posttoday

TREASURIST แนะนำกองทุนดี ด้วยพอร์ตเหมาะสม

12 มกราคม 2560

ถึงจะเรียบง่าย แค่ไม่กี่คลิก ตอบไม่กี่คำถามก็จะได้ทั้ง “พอร์ตลงทุนที่เหมาะสม” และ “กองทุนที่แนะนำ” แต่เบื้องหลังความเรียบง่าย ของ Treasurist ได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ พัฒนา และทดสอบมาจนมั่นใจว่า ได้โมเดลในการเลือกกองทุนที่ถูกต้อง

ถึงจะเรียบง่าย แค่ไม่กี่คลิก ตอบไม่กี่คำถามก็จะได้ทั้ง “พอร์ตลงทุนที่เหมาะสม” และ “กองทุนที่แนะนำ” แต่เบื้องหลังความเรียบง่าย ของ Treasurist ได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ พัฒนา และทดสอบมาจนมั่นใจว่า ได้โมเดลในการเลือกกองทุนที่ถูกต้อง

“เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ กรรมการบริหาร Treasurist กล่าวพร้อมกับบอกว่า จริงๆ แล้ว Treasurist ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2557 แต่เริ่มเปิดตัวอย่างจริงจังเมื่อปี 2559 “ถ้ายังไม่ชัวร์ก็ไม่อยากปล่อยออกมา”

ศกุนพัฒน์ บอกว่า โมเดลที่ใช้สำหรับเลือก “กองทุนแนะนำ” ของ Treasurist เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง “ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Thailand Investment Forum” ที่มีประสบการณ์ลงทุนมากว่า 10 ปี ซึ่งก็คือตัวเขาเอง กับ “หมอนัท” เจ้าของเพจคลินิกกองทุน ทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ในโพสต์ทูเดย์อีกด้วย

“เราพบว่าระบบการคัดเลือกกองทุนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลในอดีต แต่ไม่รับประกันผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ไม่มีใครรู้อนาคต แต่เราลงทุนเพื่ออนาคต แล้วถ้าไม่ดูศักยภาพในอนาคตจะพอหรือไม่ ดังนั้นเราจึงพัฒนาดัชนีชี้วัดศักยภาพในอนาคตของกองทุนขึ้นมา ประกอบกับการพิจารณาข้อมูลในอดีต” ศกุนพัฒน์ กล่าวทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยบอกศักยภาพในอนาคตของกองทุนที่ Treasurist นำมาใช้เพิ่มเติม คือ ค่าธรรมเนียม และผลงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)

“ถ้าปัจจัยอื่นๆ คงที่ และลงทุนหุ้นตัวเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผลตอบแทนต่างกันในระยะกลางและยาว คือ ค่าธรรมเนียม เพราะไม่ว่ากองทุนจะกำไรหรือขาดทุน จะถูกคิดค่าธรรมเนียมแน่ๆ เพราะฉะนั้นกองทุนไหนที่คิดค่าธรรมเนียมโหดมาก แล้วไม่เก่งจริง จะไม่ถูกแนะนำ”

ขณะที่การวัดผลงานของ บลจ.จะประเมินจากความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน ซึ่ง ศกุนพัฒน์ บอกว่า “จะเข้าไปดูข้อมูลกองทุนประเภทเดียวกันที่ บลจ.นั้นบริหารอยู่ ซึ่งหากทำได้ดีทุกกองทุน จะได้คะแนนดีขึ้น เพราะเชื่อว่าอนาคตน่าจะทำได้ดีเช่นกัน”

เมื่อมั่นใจแล้วก็เริ่มออกสตาร์ทกันได้เลย โดยเข้าไปที่ www.treasurist.com และทำแบบทดสอบตอบคำถามง่ายๆ ทั้งหมด 16 ข้อ (จากแนวคำถามในแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)

“อาจจะเหนื่อย (ที่จะตอบคำถาม) ในตอนแรก แต่จะทำให้ได้สิ่งที่เหมาะกับคุณจริงๆ” ศกุนพัฒน์ กล่าว

หลังจากทำแบบทดสอบข้อสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว เราจะได้ “รูปแบบการลงทุนที่เหมาะกับคุณ” ซึ่ง ศกุนพัฒน์ บอกว่า รูปแบบการลงทุน หรือพอร์ตลงทุนที่แนะนำ จะมีอยู่มากกว่า 10 แบบ เพื่อให้ตรงกับระดับการยอมรับความเสี่ยงและความต้องการลงทุนของแต่ละคนอย่างแท้จริง

นอกจากได้พอร์ตลงทุนที่เหมาะสม พร้อมกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับหากลงทุนตามสัดส่วนที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะมีกองทุนแนะนำที่ผ่านการคัดเลือกตามโมเดลของ Treasurist และเมื่อคลิกเข้าไปที่ชื่อกองทุนจะมีข้อมูลด้านต่างๆ ของกองทุน เช่น ผลตอบแทนย้อนหลัง ความผันผวน สินทรัพย์ 5 อับดับแรกที่กองทุนลงทุน

แต่ที่แปลกแตกต่าง คือ ข้อมูล Maximum Drawdown ที่จะช่วยบอกว่า ที่ผ่านมากองทุนนี้มีผลขาดทุนมากที่สุดอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น Maximum Drawdown ของกองทุน ABC ในช่วงเวลา 3 ปี อยู่ที่ 10% หมายความว่า ในช่วง 3 ปีนั้น ถ้าเราเข้าไปซื้อกองทุน ณ จุดที่มูลค่าหน่วยลงทุนสูงที่สุดและไปขายที่จุดต่ำสุด เราจะขาดทุน 10% ซึ่งน่าพอทำให้ประเมินตัวเองได้ว่า ถ้าต้องขาดทุนในระดับนี้จะรับไหวไหม

นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกดูข้อมูลเป็นรายกองทุน หรือประเภทกองทุนก็ได้ แต่ไม่ว่าเราจะพอใจพอร์ตที่จัดให้ จะชอบกองทุนที่ Treasurist แนะนำหรือไม่ ศกุนพัฒน์ บอกว่า ไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องลงทุนตามนั้น

“จะจดชื่อกองทุนที่แนะนำแล้วออกไปลงทุนเองก็ได้ เพราะเราไม่ได้ Hard sell แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น คือ จดชื่อกองทุนออกไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ลงทุนจริง”

ดังนั้น หากต้องการลงทุนตามแผนที่แนะนำ ก็เพียงแค่คลิกไปที่ “เริ่มลงทุนตามแผนนี้” ถ้าต้องการลงทุนตามพอร์ตที่แนะนำ หรือ “สนใจซื้อกองทุนนี้” ถ้าต้องการลงทุนเฉพาะบางกองทุน

“หลังจากนั้น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) พันธมิตรของ Treasurist จะติดต่อกลับไปภายใน 3 วันทำการ (กรณีเงินลงทุนขั้นต่ำเป็นไปตามแผน) และ 5 วันทำการ (กรณีเงินลงทุนต่ำกว่าจำนวนเงินที่แนะนำ ซึ่งต้องมีการปรับแผน) เพื่อดำเนินการเปิดบัญชีและเริ่มลงทุนจริง”

แต่เนื่องจากกองทุนรวมแต่ละกองทุนจะกำหนดยอดการลงทุนขั้นต่ำสำหรับการซื้อครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไป เอาไว้แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลไปถึง “ยอดเงินลงทุนขั้นต่ำของพอร์ต” เพราะหากต้องการลงทุนตามสัดส่วนลงทุนที่เหมาะสม จะต้องพิจารณาจากยอดการลงทุนขั้นต่ำของแต่ละกองทุนด้วย

เช่น ในพอร์ตที่เหมาะสมแนะนำให้ลงทุนกองทุน ABC เท่ากับ 5% ของพอร์ต แต่กองทุนนี้กำหนดยอดลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 2,000 บาท ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนการลงทุน เราจะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับพอร์ตนี้อยู่ที่ 4 หมื่นบาท

นอกจากนี้ ยังอาจมีบางกองทุนที่เป็นกองทุนแนะนำ แต่ไม่ได้ขายผ่าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Treasurist

“จุดเด่นของ Treasurist คือ เป็นอิสระ กองทุนไหนดีก็บอกว่าดี กองทุนไหนดีแต่ซื้อกับเราไม่ได้ เราก็บอก”ศกุนพัฒน์ กล่าว

เพราะ ศกุนพัฒน์ เชื่อว่า กองทุนรวม คือ เครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์การลงทุนสำหรับทุกคน เพราะซื้อง่าย ขายง่าย มีคนคอยบริการให้ พร้อมกับเปรียบเทียบการลงทุนผ่านกองทุนรวมไว้ว่า เหมือนการออกทานอาหารร้านดัง ที่มีสุดยอดเชฟมาทำอาหารให้ ซึ่งเชื่อได้ว่า อร่อยแน่นอน

“ทุกคนอยากมีฐานะการเงินดีแต่ไม่ใช่ทุกคนที่ถนัดการลงทุน เราเลยสร้างระบบการคัดเลือกกองทุนขึ้นมาให้คนทั่วไปสามารถลงทุนกองทุนที่ดีไปพร้อมๆ กับทำงานที่เขาถนัด”ศกุนพัฒน์ กล่าว