posttoday

ทิศทางเศรษฐกิจ การลงทุนในปี 'ไก่'

22 ธันวาคม 2559

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

เข้าสู่ช่วงสิ้นปี 2559 แล้ว ผมก็ขอใช้โอกาสนี้สรุปภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนในปีนี้ และแนวทางที่สำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องคอยติดตามนะครับ

การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลกในช่วงนี้ อาจทำให้ตลาดมี “อารมณ์” ที่ดี แต่หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี ถือว่าปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างผิดหวังครับ ในด้านเศรษฐกิจนักวิเคราะห์เคยคาด (ณ สิ้นปี 2558) ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 3.3% แต่หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐในช่วงกลางปีที่อ่อนแอลงไป รวมถึงไปเศรษฐกิจ EM อย่างเช่น บราซิล รัสเซีย และประเทศในแถบเอเชียเหนือ ทำให้มีการปรับประมาณการลดลงจนล่าสุดเหลือเพียงคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.9% เท่านั้น

ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกก็ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาด นักวิเคราะห์เคยมองว่าตลาดหุ้นทั่วโลก (ดัชนี MCSI All-Country World Index) จะให้ผลตอบแทน 14.4% (คาดการณ์ ณ สิ้นปี 2558) แต่ผลตอบแทน YTD อยู่ที่ 6.0% เท่านั้น (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2559) เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นไทยที่แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงถึง 17.4% YTD (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2559) ซึ่งหากปิด ณ ระดับ 1,511 จุดนี้ (ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายเราที่ 1,530) จะถือเป็นปีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 4 ปีเลยทีเดียว แต่หากเทียบกับเป้าหมายที่ “ตลาด” คาดไว้เมื่อสิ้นปีก่อนว่า SET Index จะได้ผลตอบแทน 22.4% ก็ถือว่าผลตอบแทนปีนี้ต่ำกว่าเป้าเช่นกัน

สำหรับในปีหน้าเรามองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดีขึ้น ประเทศใหญ่ๆ ของโลกหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐจะหันมาใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นไปตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินได้ให้ความช่วยเหลือมาจนสุดความสามารถแล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยทั่วโลกแม้จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำและเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ตัวเลขคาดการณ์จากไอเอ็มเอฟที่ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตได้ 3.4% ในปี 2560 สูงกว่า 3.1% ในปีปัจจุบัน ก็ดูสมเหตุสมผลอยู่ ซึ่งเศรษฐกิจและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นนี้จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเราเองมองว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.5% ในปีหน้า ดีกว่า 3.1% ในปีนี้ แต่ปัจจัยสนับสนุนจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรหลัก แต่แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวน่าจะน้อยลงในปีหน้า ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง งบประมาณกลางปีวงเงิน 1.9 แสนล้านบาทถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ เพราะหากรัฐบาลไม่ได้จัดทำงบดังกล่าว การใช้จ่ายภาครัฐอาจไม่ได้เติบโตจากปีก่อนเลยและจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยงบกลางปีนี้จะทำให้ศักยภาพในการใช้จ่ายของรัฐบาลสูงขึ้น

ขณะที่การลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น น่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในปีหน้า ส่วนการฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงเมื่อต้นปีน่าจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปีหน้า การบริโภคในประเทศน่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการเมืองที่น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องติดตามผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอลงว่าจะกระทบการบริโภคในประเทศเพียงใด ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศที่ยังต่ำก็ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง โดยเราคาดว่า กนง.ยังน่าจะคงดอกเบี้ยที่ 1.5% ไปตลอดปีหน้า แต่ทว่าการส่งออก-การลงทุนภาคเอกชนยังน่าจะอ่อนแอต่อเนื่องทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้สูงนัก

แต่ในด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวังสำหรับปี 2560 อาจจะไม่สูงเหมือนผลตอบแทนในปีก่อนๆ ตราสารหนี้ระยะสั้นยังให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ แต่อัตราผลตอบแทนนั้นน่าจะต่ำสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ขณะที่ตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นมีความเสี่ยงจากทั้งดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ค่อนข้างต่ำ และราคาตราสารที่อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนในด้านตราสารทุนนั้น  เรายังคงมีมุมมองใน “เชิงบวก” แม้ว่าผลตอบแทนอาจจะไม่ได้มากเท่าในปีนี้ โดยเราตั้งเป้าหมาย SET Index ไว้ที่  1,668 จุด คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 10% จากปัจจุบัน ปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ การฟื้นตัวของกำลังซื้อ การปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ส่วนการลงทุนต่างประเทศก็ยังคงมีความสำคัญในการช่วยกระจายความเสี่ยงและหาผลตอบแทนส่วนเพิ่ม โดยอาจจะเน้นไปที่ประเทศที่มีมาตรการกระตุ้นอย่างชัดเจน หรือประเทศมีอัตราการเติบโตสูงอย่างประเทศเพื่อนบ้านเรา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เราอยากจะชี้ถึงความเสี่ยงที่สำคัญ  2 ประการที่ต้องติดตามในปีหน้า ประการแรก คือ การดำเนินตามนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ผ่านมาเราทราบนโยบายที่ทรัมป์ “หาเสียง” ไว้ ทั้งการลดภาษี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ แต่ต้องติดตามว่านโยบายเหล่านั้นจะนำไปสู่การดำเนินการได้มากน้อยและรวดเร็วเพียงใด หากทำได้น้อย ก็คงทำให้ตลาดเกิดอาการ “ผิดหวัง” แต่ถ้าหากมากเกินไปจะทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจสหรัฐสั่นคลอน เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด

ส่วนความเสี่ยงประการที่สอง คือ การเมืองในยุโรป กระแสการต่อต้านการรวมกลุ่มเริ่มรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากผลโหวตเบรกซิตของอังกฤษ และการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในอิตาลีที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้พรรคที่ชูนโยบายต่อต้านการรวมกลุ่มได้คะแนนเสียงมากขึ้น โดยต้องติดตามการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ในเดือน มี.ค. ซึ่งผลโพลในปัจจุบันชี้ว่าพรรคที่ต่อต้านการรวมตัวน่าจะได้รับชัยชนะ และการเลือกตั้งในฝรั่งเศสในเดือน เม.ย. และ พ.ค.  ซึ่งพรรคที่ไม่เอายูโรโซนน่าจะได้เป็นผู้ท้าชิงที่มีโอกาสชนะเหมือนกัน ไม่นับกับอิตาลีที่มีกำหนดการเลือกตั้งตามปกติในปี 2561 แต่หากมีอุบัติเหตุยุบสภาฯ ก่อน การเลือกตั้งใหม่ก็จะเกิดเร็วกว่ากำหนดและอาจจุดูน่าเป็นกังวลกว่า 2 ประเทศที่กล่าวข้าวต้นด้วย

ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายคุ้มครองทุกท่าน ขอให้ประสบความสุขในชีวิตและหน้าที่การทำงาน รวมถึงประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการลงทุนกันนะครับ