posttoday

ช็อป เที่ยว ช่วยชาติ

15 ธันวาคม 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ช่วงวันหยุดยาวๆ ติดกัน 2 สัปดาห์ (3-5 ธ.ค. กับ 10-12 ธ.ค.) กับบรรยากาศที่เริ่มหนาวนิดๆ ประกอบกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พ.ย. 2559 ที่อนุมัติมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค. 2559 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2559 จำนวน 1.5 หมื่นบาท เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่เคยมีมติอนุมัติให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559-31 ธ.ค. 2559 มาหักลดหย่อนภาษีจำนวน 1.5 หมื่นบาท รวม 2 รายการ ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 หมื่นบาท

แถมยังมีข่าวว่าจะมี “ช็อปช่วยชาติ” ที่จะให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 มาหักลดหย่อยภาษีได้อีก 3 หมื่นบาท ก็คงทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยคึกคักขึ้นเยอะ จะไม่ให้คึกคักได้ไง ก็กรมสรรพากรช่วยออกค่าเที่ยว ค่ากินให้เราอย่างนี้ สมมติง่ายๆ ถ้าฐานภาษีเรา 20% เราจ่ายค่าเที่ยว 3 หมื่นบาท ก็ได้เงินภาษีกลับมา 6,000 บาท เท่ากับเราจ่ายจริงแค่ 2.4 หมื่นบาท ยิ่งฐานภาษีสูง ยิ่งได้ภาษีคืนเยอะ

เรื่องช็อปช่วยชาติ เงื่อนไขเป็นไง ไม่รู้ เพราะตอนเขียน กฎหมายยังไม่ออก แต่เรื่องเที่ยวช่วยชาติมีเงื่อนไขที่ต้องระวังไว้นะ

1.คนที่จะได้สิทธิประโยชน์ภาษีท่องเที่ยวต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ดังนั้น ซื้อทัวร์ในนามนิติบุคคลไม่ได้สิทธิประโยชน์ภาษีอันนี้

2.ต้องเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้นครับ ดังนั้นเที่ยวต่างประเทศ หรือถึงแม้เที่ยวในไทยแต่ซื้อทัวร์กับคนที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์อันนี้ ดังนั้นก่อนจ่ายเงินซื้อทัวร์ในประเทศ เช็กดูให้ดีก่อนนะว่าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายเปล่า หรืออย่างค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถทัวร์ ถ้าไม่ได้อยู่ในแพ็กเกจทัวร์ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์ภาษีอันนี้เหมือนกัน ดังนั้นถ้าอยากเอาค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถทัวร์มาลดหย่อนภาษีด้วย ก็ต้องซื้อเป็นแพ็กเกจแบบรวมค่าเดินทางนะ

3.ต้องเป็นการจ่ายค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมเท่านั้น ดังนั้น การจองที่พักผ่านคนที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม อย่างเช่น จองผ่านเว็บต่างๆ ที่ไม่ใช่ของโรงแรมโดยตรง ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์อันนี้

เอกสารสำคัญที่นำมาใช้เป็นหลักฐานในการยื่นลดหย่อนภาษี ก็คือ ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีครับ โดยต้องระบุชื่อ-นามสกุล ของคนที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อน จำนวนเงิน และวัน เดือน ปี ในใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจนครับ

และถ้าเที่ยวกันทั้งครอบครัว ใบเสร็จออกมาเป็นชื่อ สามีและภริยา จะหักลดหย่อนอย่างนี้ครับ หากสามีหรือภริยามีเงินได้เพียงฝ่ายเดียวให้ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเฉพาะสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ หรือหากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีระบุผู้จ่ายเงินเป็นทั้งสามีและภริยา ทั้งสามีและภริยาต่างก็สามารถหักลดหย่อนภาษีในส่วนของตนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 3 หมื่นบาท ไม่ว่าจะยื่นรวม ยื่นแยก หรือยื่นรวมบางส่วน แต่ถ้าจะให้ดี แยกใบเสร็จฯ เป็นของใครของมันเลยดีกว่า ต่างคนต่างยื่นภาษี จะได้ไม่ยุ่งยากครับ

ยังไงใครที่เดิมคิดว่าปลายปีจะอยู่บ้านเฉยๆ ก็น่าจะพักผ่อนสมองเที่ยวนอกบ้านบ้าง นอกจากได้เที่ยวถูกๆ ยังช่วยเศรษฐกิจประเทศอีกนะ

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ขอเชิญไปกดไลค์ได้ที่เพจในเฟซบุ๊กชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ