posttoday

เจาะลึกวิธีเลือก RMF-LTFที่ยอดเยี่ยม

02 ธันวาคม 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

เผลอแป๊บเดียวมาถึงปลายปีกันแล้วนะครับ วันนี้เราสองคนจะพาทุกท่านไปดูมุมมองวิธีการเลือกกองทุนรวมประหยัดภาษี ทั้ง RMF และ LTF ที่ยอดเยี่ยมกันครับ ว่าเราสองคนดูจากอะไร

เจษฎา : เข้าประเด็นเลยนะ อย่างแรกผมเน้นเรื่องแนวทางการบริหารเงินลงทุนของแต่ละค่าย แต่ละ บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นั้นต่างมีแนวทางการลงทุนที่ตัวเองเชื่อ หรือที่เรียกว่า Style การลงทุน บาง บลจ.เน้นการลงทุนระยะยาว เลือกหุ้นแบบ Bottom-up โดยพอร์ตเมื่อเลือกแล้วจะไม่ค่อยเปลี่ยนบ่อยๆ ยกเว้นพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนจริง บาง บลจ.อาจเป็นสไตล์เวียน Sector คือ ดูมุมมองการเติบโตในแต่ละปี และดูว่าควรจะเน้นน้ำหนักหุ้นในกลุ่มไหนในแต่ละช่วงเวลา บาง บลจ.ก็ใช้ Cash ช่วยเยอะ คือ การขายหุ้นออกถือเงินสดเยอะหน่อยในยามที่คิดว่าตลาดจะลง และถือหุ้นเต็มพอร์ตในยามที่คิดว่าตลาดจะขึ้น

ชยนนท์ : แล้วจากประสบการณ์คุณเจทนี่สไตล์ไหนที่ทำผลการดำเนินงานได้ดีที่สุดละครับ

เจษฎา : ในมุมมองผมนั้น ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นนั้นมาได้จาก 3 ส่วน คือ 1.เลือกหุ้นเก่ง 2.เลือก Sector เก่ง 3.เลือกถือเงินสดเก่ง จากที่ผมเคยทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน และติดตามผลตอบแทนกองทุนมานานหลายปี ผมมองว่ากรณีบ้านเรา ข้อแรกคือ “เลือกหุ้นเก่ง” นำไปสู่ความสำเร็จมากที่สุดครับ

ชยนนท์ : แล้วตัวผู้จัดการกองทุนแต่ละคนนี่คุณเจทใช้ดูด้วยมั้ยครับ

เจษฎา :  ส่วนใหญ่กองทุนแต่ละค่ายจะนำเสนอว่าทำงานเป็นทีม ซึ่งถูกแล้วครับ ทุก บลจ.เน้นระบบทำงานเป็นทีม เช่น ถ้าเป็นแนว Bottom-up ทีมงานแต่ละคนก็จะแบ่งกันหาหุ้นแล้วนำองค์ความรู้มาแชร์กัน แต่ในทางปฏิบัติ ในการเลือกซื้อขายหุ้นเข้าพอร์ตจะมี 2 แบบ คือ การใช้ระบบ Model Port กลาง คือ ทีมงานช่วยกันกำหนด Model กลางว่าพอร์ตนั้นจะมีหุ้นอะไร น้ำหนักเท่าไหร่ และแต่ละวันควรจะซื้อขายอะไร กับระบบ Star คือ แยกความรับผิดชอบแต่ละกองทุนให้กับผู้จัดการกองทุนแต่ละคนในการจะเลือกซื้อขายหุ้นเข้าพอร์ตที่ตัวเองดูแล

ชยนนท์ : แล้วระบบไหนเด็ดกว่ากันละครับ ระหว่าง Model Port Vs Star

เจษฎา : ผมเคยลองทำงานกับทั้งสองระบบ พบว่า กองทุนที่สุดยอดยังคงเป็นกองทุนที่มีระบบ Star เข้าไปผสมกับการทำงานเป็นทีม คือ มีผู้จัดการกองทุนที่ยอดเยี่ยมเข้ามามีบทบาทการตัดสินใจสุดท้ายกับกองทุนแต่ละกอง ดังนั้นเราควรทำความรู้จักกับสไตล์การลงทุนของ Fund Manager ที่เป็นตัวหลักของกองทุนแต่ละกองด้วย และแน่นอนหาก Fund Manager ท่านนั้นไม่อยู่ ย่อมจะมีผลต่อผลประกอบการกองทุนบ้างเหมือนกัน แล้วคุณแบงค์ละครับ เรื่องการดูผลตอบแทนดูยังไง แนะนำหน่อย

ชยนนท์ : เรื่องการดูผลตอบแทนผมแนะนำให้ดูให้ครบทุกด้าน โดยดูทั้งผลตอบแทนระยะยาว ในที่นี้ เอา 3 ปี 5 ปี เลยนะครับ ส่วนตัวแล้ว ผมมีความเชื่อว่า ยิ่งกองทุนเปิดมานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอดีตให้เราลองศึกษามากเท่านั้น ว่าแล้วเราก็เรียงอันดับกองทุน LTF ที่ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 5 ปี ออกมาให้หมด เราจะเลือกแค่ 20 กองแรก ที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปีดีที่สุดมาวิเคราะห์ต่อ

เจษฎา : แล้วดูให้ครบทุกด้าน นี่ต้องดูด้านไหนอีกครับ

ชยนนท์ : ต้องดูผลตอบแทนแบบปรับความเสี่ยงประกอบด้วยครับในที่นี้ ที่นิยมใช้กัน ก็คือ Sharpe Ratio นั้นเองครับ โดยค่า Sharpe Ratio นี้ ยิ่งมากยิ่งแปลว่า ผลตอบแทนคุ้มกับความเสี่ยง ดังนั้นเวลาดูว่ากองไหนดีกว่ากองไหน ก็ให้ดูกองทุนที่ค่า Sharpe Ratio สูงกว่า เช่นเดียวกัน ผมแนะนำให้ดู Information Ratio (IR) ควบคู่กันไปด้วย โดยในส่วนของ IR นั้นคำนวณคล้ายๆ กับ Sharpe Ratio โดย Information Ratio หาได้จาก Return - Benchmark เเละหารด้วย Standard Deviation (ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ โดยส่วนตัว ผมแนะนำให้ดูค่า Sharpe Ratio และ Information Ratio ที่ระยะยาวหน่อย 3 ปี และ 5 ปีขึ้นไปครับ)

ทั้งหมดก็เป็นมุมมองของการเลือกลงทุนในกองทุนรวมประหยัดภาษี RMF และ LTF ที่ยอดเยี่ยมที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ส่วนท่านที่สนใจรับคำแนะนำและลงทุน RMF และ LTF ผ่าน FINNOMENA ซึ่งเราสองคนตั้งใจทำกับมือ ลองดูได้เลยครับที่ http://nter.io ทั้งหมดเป็นบริการฟรี กรอกเอกสารเปิดบัญชีออนไลน์ในเวลาเพียง 5 นาที ไม่ต้องเขียนเองให้เมื่อยมือด้วยนะครับ