posttoday

จับตาตลาดอาเซียนปลายปี 2559

18 พฤศจิกายน 2559

โดย ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกสิกรไทย

โดย  ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกสิกรไทย

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2559 จะเห็นได้ว่าภาพรวมการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น จากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก อาทิ  ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมทั้งแนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้  รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และยุโรป ที่ยังไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน แต่หากเปรียบเทียบผลกระทบในแต่ละภูมิภาคแล้ว อาเซียนก็ยังถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ที่สำคัญยังสามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ดี และยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนอยู่ 

หากดูพัฒนาการของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน  ประเทศอินโดนีเซีย นับได้ว่าเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด เนื่องจากทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด มีความชัดเจน และให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเน้นถึงการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้า ท่าเรือ ถนน ซึ่งเม็ดเงินสำหรับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้จัดสรรในปี 2559 นั้น มีสัดส่วนสูงถึง 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  (GDP)  ปี 2559 (เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา) ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2559  บริษัทกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่เป็นรัฐวิสาหกิจได้งานก่อสร้างมูลค่ารวมสูงขึ้นกว่า 100%        

และล่าสุดงบประมาณประจำปี 2560 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ได้เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้น 22% จากปี 2559 หรือคิดเป็น 2.8% ของ GDP ปี 2560 โดยมีโครงการสำคัญหลายโครงการ อาทิ โรงไฟฟ้าขนาด  2 ล้านกิโลวัตต์  ที่ Central Java ทางด่วน Cileunyi-Banjar ความยาว 107 กิโลเมตร ที่จะเปิดประมูลในปี 2560 ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงมาที่ 3.9% ในครึ่งแรกของปี 2559 (จากเฉลี่ย 6.4% ในครึ่งแรกของสามปีที่ผ่านมา) อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ  อาจส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ย  เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป

ในส่วนของประเทศฟิลิปปินส์ นักลงทุนต่างจับตาดูแนวทางการบริหารประเทศของประธานาธิบดีดูแตร์เต ที่มีนโยบายปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง  ซึ่งอาจจะดูค่อนข้างรุนแรงในเชิงมนุษยธรรมในสายตาของประชาคมโลก  ตลอดจนการลดบทบาทของประเทศสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศฟิลิปปินส์ลง และหันไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศจีนมากขึ้น     โดยจีนได้สัญญาว่าจะเพิ่มการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์เป็นจำนวน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังสนับสนุนการค้าขายและการท่องเที่ยวกับฟิลิปปินส์อีกด้วย

อย่างไรก็ดีภาพรวมการบริหารงานในประเทศของประธานาธิบดีดูแตร์เต ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันการเจริญเติบโตของประเทศ ซึ่งยังคงเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยสามารถอนุมัติโครงการโครงสร้างพื้นฐานถนนเชื่อม North Luzon Express Way และ South Luzon Express Way (NLEX-SLEX) ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ในส่วนของเศรษฐกิจในประเทศก็ยังมีการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยไตรมาสที่สองตัวเลข GDP ที่ออกมาอยู่ที่ 7% (สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 6.6%) ยอดขายรถยนต์โต 32% และยอดการใช้ไฟฟ้าโต 10%

ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับ 2.3% ซึ่งอยู่ในกรอบ 2 - 4 % ที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ตั้งเป้าไว้ ตลอดจนล่าสุดกระทรวงการคลังเตรียมจะนำเสนอร่างปฏิรูปโครงสร้างภาษี  โดยคาดว่าน่าจะปรับลดอัตราภาษีรายได้ส่วนบุคคลจากสูงสุดที่ 32% ลงเหลือ 25% และบริษัทจาก 30% ลงเหลือ 25% และปรับเพิ่มอัตราภาษีบางประเภท อาทิ ภาษีจากอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ภาษีอุตสาหกรรมเหมืองแร่, ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 258.7 พันล้านเปโซ โดยจะช่วยลดภาระการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำว่า 3% ของ GDP ได้ ในขณะที่การส่งเงินกลับของแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศยังคงเติบโตอยู่ 4.6% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งคลายความกังวลเกี่ยวกับสภาวะการจ้างงานในตะวันออกกลางไปได้

ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศที่ดัชนีให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียนนับจากต้นปีที่ผ่านมา โดยดัชนี FTSE Bursa Malaysia KLCI ปรับตัวลดลง 1.18% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559)  ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยของราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 2558 ประกอบกับเหตุการณ์อื้อฉาวเรื่องกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด   (1MDB) ที่กดดันตลาดหุ้นของประเทศตลอดปี 2559 อย่างไรก็ดี ล่าสุดงบประมาณประจำปี 2560 ได้ผ่านความเห็นชอบ โดยเนื้อหาสำคัญมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (โดยมีช่วงคาดการณ์ GDP โต 4-5% ในปี 2560) การลดงบประมาณขาดดุลลงเป็น 3% (3.1% ในปี 2559) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในเรื่องที่อยู่อาศัย ตลอดจนยังคงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศมาเลเซียโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ

สำหรับประเทศไทย ภาพการลงทุนโดยรวมน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลมีความพยายามที่จะออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน บลจ.กสิกรไทย มองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนในหุ้นรายตัวที่ไม่ได้รับผลกระทบ และสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว

บลจ.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน  โดยเชื่อว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศในภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดผลบวกต่อการเจริญเติบโตภายในประเทศ ซึ่งจากการติดตามนโยบายของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทยมีความพยายามที่จะผลักดันนโยบาย เพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมากขึ้นจึงจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศอย่างยั่งยืนในระยะถัดไป  บลจ.กสิกรไทย จึงเน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก และมีความทนทานต่อสถานการณ์ที่ผันผวนจากปัจจัยภายนอก

ภาพ AP