posttoday

เกษียณสุข

10 พฤศจิกายน 2559

โดย...ศิริพร สินาเจริญ , CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงศรี

โดย...ศิริพร สินาเจริญ , CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงศรี

สำหรับหลายๆคน การวางแผนหรือการออมเพื่อเกษียณนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าการเก็บเงินเพื่อค่าเทอมลูก การซื้อบ้านหลังแรก หรือการผ่อนรถ ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรไทยเอง     ยืนยาวขึ้น  ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทุกวัน ประกอบกับการออมภาคบังคับจากภาครัฐที่ไม่เพียงพอ  การออมเพื่อการเกษียณอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะในระหว่างที่คุณกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆในชีวิต เพียงไม่นานก็จะพบว่าชีวิตหลังเกษียณก็จะมาถึงคุณอย่างไม่ทันตั้งตัว

หลักสำคัญสำหรับการเกษียณอย่างมีความสุข

1.กำหนดเป้าหมาย

การลงทุนจะต้องมีวัตถุประสงค์ว่าจะลงทุนเพื่ออะไรและมีระยะเวลานานเท่าใด เช่น ลงทุนระยะสั้นเพื่อสำรองเงินฉุกเฉิน ระยะกลางเพื่อการศึกษาบุตร และระยะยาวเพื่อการเกษียณ ไม่ว่าจะลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ใด การจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้เงินออมงอกเงยแล้ว ยังช่วยลดความผันผวน และสร้างความมั่นคงแม้ในช่วงวงจรเศรษฐกิจตกต่ำ

2.กำหนดแผนการ

เป้าหมายที่ไม่มีแผนการนั้น ถือเป็นแค่ “ความปรารถนา” เท่านั้น Antoine de Saint-Exupery ได้กล่าวไว้เช่นนั้น  การวางแผนสำหรับการเกษียณนั้น อาจดูเหมือนจะมีความยุ่งยากอยู่ซักหน่อย เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นอายุขัย ปัญหาสุขภาพ ความผันผวนของผลตอบแทน เป็นต้น ส่งผลให้แผนการเกษียณไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัวสำหรับแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ที่ศึกษาและกำหนดหลักการง่ายๆ เพื่อใช้ประกอบการวางแผนเกษียณ เช่น อัตราการใช้จ่ายหลังเกษียณได้มีการประมาณแบบระมัดระวังไว้ที่ 70% ของรายได้ในปัจจุบัน หรือการจัดสัดส่วนการลงทุนแบบง่ายๆ เพื่อให้เงินออมงอกเงยให้พอใช้หลังเกณียณ คือการเอา 100 ลบด้วยอายุปัจจุบัน ได้เท่าไหร่ คือสัดส่วนการลงทุนในหุ้น

คนเอเชียส่วนใหญ่ยังคงนิยมออมเงินด้วยการฝากธนาคาร โดยคนญี่ปุ่นยังคงมีการฝากเงินสูงถึง 54%  คนฮ่องกง 45% เกาหลี 45% ซึ่งแตกต่างจากออสเตรเลียที่ 22% หรือสหรัฐอเมริกาที่ 14% แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะลดต่ำลงมาโดยตลอด   จากตัวอย่างด้านล่าง จะพบว่าจากจำนวนเงินออมต่อปีที่เท่ากัน  หากมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน  จะช่วยให้เงินออมเพื่อการเกษียณเติบโตดีกว่ามากแม้จะเริ่มออมช้ากว่าถึง 10 ปี

 

เกษียณสุข

3.มีลงทุนอย่างรอบคอบและลงทุนระยะยาว

กลยุทธ์การลงทุนสำหรับการเกษียณนั้นมี 2 ช่วง คือ ช่วงสะสมและช่วงถดถอย ช่วงสะสมคือตั้งแต่เริ่มมีรายได้จากงานแรกจนถึงวันเกษียณจากงาน ซึ่งในช่วงนี้มีความสำคัญมากที่คุณจะต้องมีมุมมองการลงทุนระยะยาวและกระจายการลงทุนที่เน้นการเติบโตของเงินออมอย่างเหมาะสม เพราะคุณมีเวลาเป็นปัจจัยช่วยเสริมการงอกเงยของเงินออม  ส่วนในช่วงถดถอย วัตถุประสงค์หลักของการลงทุนคือการนำเงินมาใช้อย่างปลอดภัยและพอเพียงไปจนวันสุดท้ายของชีวิต

 

เกษียณสุข

 

การบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับเงินก้อน ณ วันเกษียณมีความสำคัญมาก เพราะ ณ วันนั้น เงินออมสำหรับการเกษียณจะเป็นเงินเก็บก้อนใหญ่ที่สุด  ก่อนที่จะต้องเริ่มทยอยถอนมาใช้หลังเกษียณ     การลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนติดลบในปีแรกๆหลังเกษียณ จะส่งผลลบต่อเงินออมเพื่อการเกษียณอย่างร้ายแรงกว่าผลตอบแทนติดลบในปีท้ายๆของการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แม้ว่าคิดเฉลี่ยแล้วจะได้อัตราผลตอบแทนที่เท่ากัน ตัวอย่าง นาย เอ  นาย บี   และ นาย ซี  มีเงินออม ณ วันที่เกษียณเท่ากันที่ 1 ล้าน แต่ด้วยการจัดพอร์ตการลงทุนที่ต่างกัน จึงมีผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละปี เมื่อเฉลี่ย 30 ปี มีผลตอบแทนเท่ากันที่ 7% ต่อปี  ซึ่งการมีผลตอบแทนติดลบในปีแรกๆหลังการเกษียณ ทำให้เงินก้อนลดลง ส่งผลลบต่อพลังของเงินทบต้นในปีที่ผลตอบแทนเป็นบวก

การวางแผนเพื่อการเกษียณจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง   การหาผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินหรือเริ่มด้วยผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายในท้องตลาด เช่น กองทุน Life path หรือ Life stage  คือ อีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายกว่าและเหมาะกับผู้เริ่มต้นการออมเพื่อการเกษียณหรือผู้ที่ไม่มีเวลาในการจัดและปรับสัดส่วนการลงทุนเมื่ออายุเปลี่ยนแปลงไป