posttoday

วินัยการลงทุนกับการซื้อ/ขายเฉลี่ย หรือ Dollar Cost Average

10 พฤศจิกายน 2559

โดย สมิทธ์ พนมพยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

โดย สมิทธ์ พนมพยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

ก่อนที่ผมจะก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจจัดการกองทุน หรือ Asset Management ก็ได้ติดตามอ่านบทความของท่านผู้รู้หลายท่าน  ทุกท่านมักจะเน้นย้ำเสมออยู่ 2-3 เรื่อง คือ การกระจายการลงทุน หรือที่เรียกกันว่า Asset Allocation และการทยอยซื้อเฉลี่ย หรือ Dollar Cost Average ซึ่งหลายท่านคงได้อ่านหรือฟังกันมาบ้างไม่มากก็น้อย

วันนี้ผมขออนุญาตไม่เล่าซ้ำแต่จะมาแบ่งปันวิธีการปฏิบัติจริงแบบง่ายๆ ที่ผมใช้เองนะครับ  ขอเริ่มจาก Dollar Cost Average หรือการซื้อเฉลี่ยก่อน เพราะไม่มีใครรู้ว่าวันไหนหุ้นจะต่ำสุดหรือสูงสุดแต่ตามทฤษฎีการลงทุนเลยแนะนำให้ทยอยซื้อ บางท่านวินัยสูงยึดตามแบบแผนก็จะซื้อเฉลี่ยทุกๆ เดือนเลย เมื่อวันก่อนผมมีโอกาสได้เทียบผลการดำเนินงานของกองทุน LTF ที่ครบกำหนด 5 ปี และขายได้ตามเกณฑ์ของสรรพากร  ซึ่งผมกับภรรยาเราต่างก็ลงทุนในกองทุนตัวเดียวกัน ปีเดียวกัน ปรากฏว่าได้ผลตอบแทนต่างกันพอสมควร ทั้งที่ถือครองมาครบ 5 ปีพอๆ กัน (ของผมได้กำไรมากกว่า แต่ถ้าน้อยกว่าคงต้องลาออกให้ภรรยามาเป็นผู้จัดการกองทุนแทน)

เมื่อกองทุนที่เราลงทุนเป็นตัวเดียวกันทำไมผลตอบแทนต่างกันได้ขนาดนั้นก็พบว่า  ผมใช้วิธีซื้อเฉลี่ย แต่ภรรยาผมนั้นลงทุนครั้งเดียวตอนใกล้ๆ ปลายปีเหมือนนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มักทำกัน แต่จริงๆ แล้วผมเองก็ไม่ได้ลงทุนเฉลี่ยทุกเดือนหรอกครับ ผมใช้วิธีแบ่งเงินที่จะลงทุนเป็น 4 ส่วน และช่วงวันเวลาไหนที่หุ้นลงแรงๆ จนมีSMS มาเตือน หรือถึงขั้นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น ผมก็ทยอยซื้อทีละส่วน  ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของผมต่ำกว่าของภรรยาอยู่หลายเปอร์เซ็นต์ (ซึ่งก็แล้วแต่ปี โดยบางปีต้นทุนอาจต่างกันถึง 5-7% ด้วยวิธีนี้)

แต่ซื้อถูกเพียงอย่างเดียวคงไม่พอต้องขายให้เป็นด้วย จริงๆ แล้วการขายทำกำไรให้เป็นนั้นสำคัญกว่าการซื้อถูกด้วยซ้ำ ทำไมนะเหรอครับ ก็เพราะผู้ออมเงินและนักลงทุนส่วนใหญ่มีสินทรัพย์มากกว่ารายได้หลายเท่า เช่น ถ้าเรามีรายได้ปีละหนึ่งล้านบาท แต่อาจมีเงินเก็บและเงินลงทุนอยู่ 6 ล้านบาท ฉะนั้นหากตลาดปรับตัวลดลง 20% ถ้าเราลงทุนได้ถูกหรือซื้อถูกไป 20% ก็เป็นเพียง 20% ของ 1 ล้าน คือเท่ากับสองแสนบาทเท่านั้น  แต่ถ้าหากขายผิดหรือลืมขาย มูลค่าสินทรัพย์อาจลดลงได้ 20% ของ 6 ล้าน คือหายไปถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท เห็นหรือยังครับว่าการขายเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการทยอยซื้อถูก

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรขายทำกำไร!  โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครคาดเดาวิกฤตได้ล่วงหน้าขนาดรู้วันที่ที่แน่นอน นักวิเคราะห์เองก็มักหาเหตุผลคำอธิบายมาตอบได้แทบทุกสถานการณ์ พอหุ้นถูกหรือ PE ratio ต่ำก็บอกว่าราคาเหมาะสมแล้วเพราะไม่มี growth พอหุ้นแพงหรือ PE ratio สูงก็ยังหาเหตุผลว่าเหมาะแล้วเพราะกำไรบริษัทกำลังเติบโตดี อย่ากระนั้นเลยครับ อะไรมีขึ้นก็มีลง มีลงก็ขึ้นได้ ผมก็ใช้สถิติมาช่วย ถ้าราคา PE ของตลาดอยู่ใกล้ๆ บวกสองค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานทางสถิติจากค่าเฉลี่ย (+2 standard deviation) ก็คือแพง แม้อาจจะขึ้นต่อได้อีกแต่ตามหลักสถิติโอกาสเกิดขึ้นเพียงประมาณสามในร้อย แต่โอกาสปรับตัวลงถึงเก้าสิบเจ็ดเปอร์เซ็นต์ ผมก็ขายทำกำไรบ้างเพื่อจะได้มีเงินสดมาซื้อ เวลามันปรับฐานลงมาการขายของผมก็ใช้หลักเดียวกันกับเวลาซื้อ คือแบ่งเงินเป็น 4 ส่วนและทยอยขาย

สิ่งสุดท้ายที่นักลงทุนหลายท่านพลาด คือ พอขายได้เงินสดแล้วตลาดปรับตัวลงก็มัวแต่นั่งดีใจว่าตนเองถูก แต่ลืมกลับเข้าไปลงทุนใหม่อีกเมื่อตลาดปรับลง (ซึ่งบางครั้งระยะเวลาห่างกันไม่มาก ยังทำใจไม่ได้หรือมัวแต่ดีใจอยู่) พอตลาดดีดกลับไปก็ไม่กล้าซื้ออีกเพราะบอกว่าต้นทุนแพงกว่าเดิมที่ขายไป  ทั้งที่จริงๆ แล้วมีโอกาสซื้อถูกแต่ลืมเองเลยพลาดโอกาสที่จะได้เติบโตไปกับตลาดในระยะยาว เห็นไหมครับว่าวินัยการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ พูดง่ายทำยากและฝืนความรู้สึกของคนทั่วไป แต่นั่นละครับคือเคล็ดไม่ลับที่ผมอยากฝากท่านนักลงทุน ขอให้โชคดีนะครับ