posttoday

คนไทยกินทุเรียนแพงแต่คนทั้งโลกกินข้าวไทยถูก (ตอน กล้วยที่ไม่กล้วย)

12 ตุลาคม 2559

ทำไมราคากล้วย 2 ปีนี้ทำไมราคาถึงก้าวกระโดด น่าดีใจแทนเกษตรกรที่ปลูกกล้วย..

โดย กิติชัย  เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

บทความนี้มาถึงตอนที่ 4 แล้ว โดย 3 บทความแรกผมได้กล่าวถึงสภาวการณ์ของราคา การผลิต และการส่งออกทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ส่วนบทความนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของกล้วย ที่เป็นผลไม้โปรดของคนไทย และคนทั้งโลก ถ้าท่านสังเกต จะพบว่าราคากล้วยในประเทศมีราคาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะปีนี้ จากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ช่วง 2-3 ปีนี้ ภูมิอากาศไม่เป็นใจกับการปลูกกล้วย ทำให้ได้ผลผลิต/ไร่ลดลง ถึงแม้จะมีเนื้อที่ให้ผลมากขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา แต่ผลผลิตรวม ก็ยังมีปริมาณลดลง ตามตารางประกอบ

แสดงให้เห็นพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอม และกล้วยไข่ โดยกล้วยไข่ช่วงปี 2554-2556 มีเนื้อที่ให้ผลลดลงมาก แล้วกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2557 จวบจนปัจจุบัน สาเหตุมาจากกล้วยไข่ในชื่อภาษาจีน มีความหมายที่เป็นสิริมงคล ทำให้มีการนำเข้ากล้วยไข่จากไทยมากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยกล้วยไข่จะปลูกมากที่จังหวัดกำแพงเพชร และจันทบุรี ส่วนกล้วยน้ำว้านี้มีการเพาะปลูกทั่วประเทศ เพราะว่าเป็นกล้วยประเภทที่คนไทยนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะที่จังหวังพิษณุโลก นอกจากจะปลูกกล้วยน้ำว้ามากแล้ว ยังเป็นแหล่งแปรรูปกล้วยในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยตาก กล้วยทอด กล้วยอบ หรือขนมอื่นๆ ที่ทำจากกล้วย ฯลฯ ซึ่งกล้วยแห้งกำลังเป็นที่นิยมในจีนมากขึ้น ดูจากปริมาณและมูลค่าส่งออกจะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามลูกค้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ตามลำดับ

ส่วนกล้วยหอมปลูกมากที่บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งสุราษฎธานี และชุมพร ในช่วง 2-3 ปีมานี้ กลุ่มธุรกิจจากจีนได้มาเช่าที่ดินการเกษตรที่จังหวัดเชียงราย เป็นพันๆไร่ เพื่อเพาะปลูกกล้วยหอมส่งออกไปที่จีน โดยใช้ Nominee คนไทยในการเช่าที่ดิน แล้วนำเทคโนโลยีจากจีนเองที่ไปทำไร่กล้วยที่ประเทศลาวตรงบริเวณเส้น R3 ที่จะวิ่งเข้าประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศนำเข้ากล้วยเป็นจำนวนมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า กลุ่มธุรกิจจีนที่มาปลูกกล้วยที่เชียงราย ได้ปล่อยน้ำเสียเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงเดือดร้อน จนร้อนถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการเกษตรต้องมาตรวจสอบ แต่ก็พบว่าการเพาะปลูกกล้วยของกลุ่มธุรกิจจีนถูกต้องตาม G.A.P. เรื่องจึงเงียบหายไป ประเทศผู้นำเข้ากล้วยหอมไทยมากที่สุดในปัจจุบันยังคงเป็นจีนแล้วตามด้วยญี่ปุ่น

ทีนี้เรามาดูราคา และผลผลิตต่อไรของกล้วยหอมจะพบว่าช่วงปี 2550 ที่ราคาตกลงมาไปมากคือจาก 5.29 บาท/กก. เหลือเพียง 3.99 บาท/กก. ลดลงไปถึง 24.57% หลังจากนั้น ราคากล้วยหอมก็ทยอยดีดตัวขึ้นมา ยืนระดับประมาณ 5 บาท/กก. แต่พอเริ่มมาปี 2556 ราคาขึ้นมาจากปี 2555 1.79 บาท/กก. คิดเป็น 35.8% แล้วราคายังทะยานขึ้นต่อในปี 2557 ที่ 8.22บาท/กก. ขึ้นจากปี2556 อีก 21.06% แล้วยังขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2558 ที่ 9.92บาท/กก. ขึ้นมาอีก 20.68% ถึงเปรียบเทียบราคาปี 2558 กับปี 2555 แค่ผ่านมา3 ปี ราคากล้วยหอมขึ้นมาถึง 4.92บาท/กก. คิดเป็น 98.40%  เลยทีเดียว โชคดีของเกษตรกร ทั้งๆที่ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงปี 2555-2559 เมื่อเทียบกับปี 2553-2557 และผลผลิต/ไร่ในช่วงปี 2554-ปัจจุบัน ก็สูงกว่าช่วงปี 2549-2553 เสียอีก

ส่วนราคาและผลผลิต/ไร่ ของกล้วยไข่จะพบว่า ช่วงราคาจะอยู่ระหว่าง 8.47-12.21 บาท ราคาไม่แน่นอน แต่ปี 2554-2555 เป็นปีที่มีผลผลิต(ตัน)น้อยมาก เมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ทำให้ราคากล้วยไข่ 2 ปีนั้นราคาสูงกว่าปีอื่นๆ ส่วนผลผลิต/ไร่ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ส่วนการส่งออกกล้วยไข่สด จะเห็นปริมาณและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งลูกค้าหลักก็คือจีน จากความเชื่อและค่านิยมของจีนที่ผมกล่าวมาข้างต้น

ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมราคากล้วย 2 ปีนี้ทำไมราคาถึงก้าวกระโดด น่าดีใจแทนเกษตรกรที่ปลูกกล้วยจริงๆ มาอ่านเรื่องข้าวกันในบทความหน้ากันครับ

ภาพ/กราฟฟิคประกอบ

 

คนไทยกินทุเรียนแพงแต่คนทั้งโลกกินข้าวไทยถูก (ตอน กล้วยที่ไม่กล้วย)