posttoday

ตลาดหุ้นถูกหรือแพง ดูอย่างไร

15 กันยายน 2559

โดย สมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

โดย สมิทธ์  พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาผมได้ไปบรรยายในงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุนของ บลจ ไทยพาณิชย์ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ทำให้ได้มีโอกาสพบกับลูกค้ามากมาย ซึ่งมักจะได้รับคำถามว่าดัชนีหุ้นจะไปถึงไหน ขณะนี้หุ้นแพงหรือยัง ฯลฯ หรือแม้กระทั่งนักข่าวบางสำนักก็มักจะชอบถามว่าSET Index หรือดัชนีหุ้นไทยจะไปถึงเท่านั้นหรือเปล่า

ผมก็ตอบลำบากครับ เพราะถ้าตอบแบบยาวเขาก็ไม่อยากฟัง ต้องการให้ฟันธงมาเลยว่าจะเป็นเท่าไหร่ วันนี้มีโอกาสเลยขอรวบรวมความคิดแล้วมาแบ่งปันมุมมองให้ท่านผู้อ่านได้เป็นแนวความรู้เพิ่มเติม

ก่อนอื่นต้องปูพื้นฐานกันเล็กน้อย การดูหุ้นรายตัวหรือตลาดหุ้นทั้งตลาดว่าถูกหรือแพงนั้น ข้อแรกคือต้องเข้าใจก่อนว่า เราเอาราคาหุ้นมาเทียบกันตรงๆ เลยไม่ได้ เพราะหุ้นแต่ละตัวสร้างกำไรให้เราไม่เท่ากัน ราคาที่แท้จริงของหุ้น คือ ค่า P/E (P/E ratio หรือ Price to Earning Ratio) หรือ ราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้น ในภาษานักลงทุนเราจะกล่าวว่า ค่า P/E นั้น คือ ราคาหุ้นที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น หุ้นบริษัทหนึ่งราคา 300 บาท แต่บริษัทมีกำไร 30 บาทต่อปี (P/E = 300/30 = 10 เท่า) ก็ดูไม่แพงนัก แต่เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งซึ่งราคาหุ้น 20 บาท แต่มีกำไรเพียง 1 บาท  (P/E = 20/1 = 20 เท่า) คือถ้า P/E ยิ่งสูงหรือราคาหารด้วยกำไรสูงก็เรียกว่าแพง หรืออย่างเช่น ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงอยู่ที่สองหมื่นกว่า จะเทียบกับ SET Index ของไทยที่พันห้าร้อยได้อย่างไร เมื่อเรานำกำไรของแต่ละตลาดมาหารเปลี่ยนเป็นค่าP/E เราก็สามารถเทียบ P/E ของทั้งสองตลาดได้

เมื่อเข้าใจพื้นฐานเรื่องราคาแล้วก็มาเริ่มดูว่าถูกแพงเทียบกับอะไร ซึ่งมันมีหลายมิติมากที่นักลงทุนมืออาชีพใช้ศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
มิติแรกที่ต้องเริ่มก่อนก็คือ เราต้องดูว่านอกจาก P/E ที่สูงนั้น มีส่วนกำไรของบริษัทในตลาดนั้นๆ จะโตมากไหม เช่น สองตลาดมี P/E ที่เท่ากัน แต่ตลาดหนึ่งกำไรปีหน้าคาดว่าจะโต 5% แต่อีกตลาดคาดว่ากำไรจะโต 10% แม้ว่าข้างต้นเราบอกว่า P/E เท่ากัน คือ ราคาที่แท้จริงเท่ากัน แต่บริษัทที่คาดว่ากำไรจะโตมากกว่าก็จะถูกกว่า เพราะพอกำไรปีหน้ามากขึ้น หรือตัว E ที่เป็นตัวหารมากขึ้น P/E ก็ลดลง คือถ้า P/E เท่ากันแน่นอนว่าเราก็ควรเลือกตลาดที่คาดว่ากำไรจะโตมากกว่า พูดง่ายๆ คือถ้ากำไรโตมาก นักลงทุนก็ยอมจ่ายราคาแพงเพราะปีหน้าพอกำไรเพิ่มขึ้นค่า P/E ก็ลดลงกลายเป็นถูกเอง

มิติที่สองที่หลายท่านนักลงทุนอาจคุ้นเคยก็คือ การดูค่า P/E  เทียบกับสถิติในอดีตว่าค่า P/E นั้นเคยแกว่งตัวอยู่ในช่วงใด โดยปกติแล้วค่า P/E ของตลาดมักจะแกว่งตัวอยู่ประมาณ 10–18 เท่า โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14เท่า (ผมใช้ค่ากำไร หรือ ตัว E เป็น Earning Forecast ของปีปัจจุบันที่นักวิเคราะห์คาดการณ์โดยเฉลี่ยนะครับ ไม่ใช่กำไรของปีก่อนหน้าที่ประกาศเป็นทางการโดยบริษัท ถ้าใครใช้กำไรของปีก่อนหน้าตัวเลขจะสูงกว่านี้) ถ้าช่วงไหนค่า P/E ตลาดเข้าไปใกล้ 16-18 เท่า เราก็มักจะคุยกันติดปากว่าตลาดเริ่มแพง แต่ถ้าช่วงไหนค่า P/E ตลาดอยู่ 10-12เท่า เราก็มักจะบอกกันว่าถูกแล้วน่าทยอยสะสม

มิติที่สามที่เราต้องมองก็คือ P/E ตลาดไทยเมื่อเทียบกับตลาดอื่น เนื่องจากเราไม่ได้เป็นตลาดปิดอยู่คนเดียวในโลก ปัจจุบันเงินทุนเคลื่อนไหวเสรี ผู้จัดการกองทุนระดับโลกที่ดูแลเงินเป็นหลายล้านหรียญ เขาสามารถย้ายเงินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก็จะต้องเปรียบเทียบว่าตลาดไหนถูกแพง เช่น เราอาจจะมองว่าตลาดไทยมี P/Eที่ 16.5 เท่า จะดูแพงเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต แต่ถ้าตลาดเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่อินเดีย ที่มีอัตราการเติบโตของกำไรพอๆ กับเรา ก็มีค่า P/E ของตลาดที่ 16-18 เท่า ซึ่งแบบนี้เราก็ไม่ได้แพงกว่าประเทศอื่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

มิติที่สี่ที่หลายคนมักนึกไม่ถึงก็คือ เรื่องค่าเงิน ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติหรือผู้จัดการกองทุนระดับโลกแล้ว เวลาเขามาซื้อตลาดหุ้นไทยเมื่อมีกำไร(หรือขาดทุนก็ตาม) แต่เมื่อขายแล้วเขาก็ต้องแลกเงินกลับเป็นดอลลาร์ ยูโร หรือ เยนกลับประเทศ ฉะนั้นค่า P/E ที่เราใช้เปรียบเทียบความถูกแพงของตลาดหุ้นต่างๆ นั้น จริงๆ แล้วเราต้องทอนด้วยค่าเงินด้วย จะเอา P/E มาเทียบกันตรงๆ เลยไม่ได้ ส่วนการทอนค่าเงินนั้นเราก็ใช้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสองสกุลเงินมาเป็นตัวทอน ก่อนที่จะนำค่า P/E และการเติบโตของกำไรของตลาดต่างๆ มาเทียบกันครับ

พอท่านนักลงทุนเข้าใจวิธีการมองตลาดทั้ง 4 มิติแล้ว ก็จะสามารถปรับพอร์ตให้เหมาะสมได้ อาจขายทำกำไรบ้างในยามที่ตลาดแพง และเก็บเงินไว้ลงทุนเพิ่มในยามที่ตลาดปรับลงมาถูกใหม่นะครับ