posttoday

มองหาโอกาสในตลาดพันธบัตรฟิลิปปินส์

27 กรกฎาคม 2559

โดย สุทธิรัตน์ รักจิตร์ กองทุนบัวหลวง

โดย สุทธิรัตน์ รักจิตร์ กองทุนบัวหลวง

นับแต่ประเทศยักษ์ใหญ่ดำเนินมาตราการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง ตลาดตราสารหนี้ในอาเซียนทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ไทยเอง ต่างได้อานิสงค์อย่างมากจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในตลาดเกิดใหม่ ทว่าในอาเซียนยังมีตลาดตราสารหนี้อื่นๆที่มีขนาดเล็กกว่า 3-4 ประเทศข้างต้น และนักลงทุนจากต่างชาติยังเข้ามาลงทุนไม่มากนัก แต่ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและคาดว่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต  หนึ่งในนั้นคือตลาดตราสารหนี้ของประเทศฟิลิปปินส์ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สดใสการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โครงสร้างของตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่น่าดึงดูด รวมถึงเสถียรภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมือง ต่างช่วยหนุนให้ตลาดพันธบัตรแห่งนี้เริ่มฉายแววสดใส

เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในปี 2558 ฟิลิปปินส์มีขนาดเศรษฐกิจ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 4 ของอาเซียนรองจาก อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย) และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง6.3%ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวแทบจะสูงสุดในเอเชียเป็นรองเพียงแต่จีนเท่านั้นด้วยรายได้ต่อหัวของประชากรที่ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่ฐานะทางการคลังก็ปรับตัวดีขึ้นมากเช่นกัน โดยรายได้ภาษีต่อขนาดเศรษฐกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ย 12% เป็น 15%-16% ในปีนี้ อีกทั้งยังบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขยายตัวจาก 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 สู่ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ตัวเลขเหล่านี้เป็นผลจากรัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศส่งผลให้ฟิลิปปินส์พลิกฟื้นตัวเองจากที่เคยถูกขนานนามว่าเป็น “คนป่วย” กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานี้

ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมดประเทศฟิลิปปินส์มีCredit rating ระดับ “BBB-” (ต่ำสุดของ investment grade)ถือว่าดีเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (AAA) มาเลเซีย (A-) และไทย (BBB+)อีกทั้งยังได้สัญญาณที่ดีจาก บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ขึ้นเหนือระดับ investment grade เป็นครั้งแรกด้วยแนวโน้ม “มีเสถียรภาพ” ในปี 2556 และพร้อมจะปรับเพิ่มขึ้นอีก หากเล็งเห็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนโครงสร้างตลาดตราสารหนี้นั้น ตลาดพันธบัตรของฟิลิปปินส์ยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทั้งในแง่มูลค่าตลาดเมื่อเทียบกับจีดีพี ที่ต่ำกว่า40% ต่อปริมาณการออกตราสารหนี้ต่อปีและในแง่ปริมาณซื้อขายต่อวัน อีกทั้งในตลาดพันธบัตรเอง พันธบัตรรัฐบาลยังครองสัดส่วนค่อนข้างสูงราว 85% ของพันธบัตรทั้งหมด มีหุ้นกู้จากภาคเอกชนแค่ 15% เท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดพันธบัตรในสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีประมาณ 50% สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเงินของฟิลิปปินส์ยังคงพึ่งพาระบบธนาคารเป็นสำคัญ และยังระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างต่ำทำให้วงเงินกู้สำหรับโครงการขนาดใหญ่อาจมีจำกัด

ประเด็นดังกล่าวชี้ว่าตลาดพันธบัตรของฟิลิปปินส์ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ในอนาคตผ่านการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ต่างแสวงหาเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำโดยเฉพาะภาครัฐนั้น คาดว่าจะออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ ในส่วนของนักลงทุน พบว่าสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศยังค่อนข้างต่ำด้วยเหตุว่าปริมาณตราสารหนี้ในตลาดที่ค่อนข้างน้อยและการเข้าถึงข้อมูลที่ยากเมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่หน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินคือนักลงทุนหลักของตลาดตราสารหนี้ฟิลิปปินส์ บ่งบอกถึงโอกาสที่จะเกิดการขยายฐานของนักลงทุนในอนาคต

ในด้านผลตอบแทน เมื่อพิจารณาดัชนีจากBloomberg พบว่าผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตรฟิลิปปินส์ตกราว 10% ต่อปีในรูปสกุลเงินในประเทศ(เปโซ)ขณะที่ไทยและมาเลเซียให้ผลตอบแทนประมาณ 6.5% และ 3.9% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่ามากหากเทียบ credit ratingที่ห่างกันเพียง 1-2 ขั้นเมื่อคิดอัตราผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์จะอยู่ที่ 8.22%ต่อปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกิดใหม่ทั้งหมดที่6%ต่อปี ความเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจในภาพรวมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง (ผลตอบแทนพันธบัตร10 ปี ที่ 4.07% ต่อปีเทียบกับไทยที่ 1.96%ต่อปี) และอัตราเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก(1.3% เมื่อเทียบกับไทยที่-0.5%)ด้วยปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ คาดว่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและญี่ปุ่นที่ต่างแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนในประเทศเนื่องจากดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

ประเด็นสุดท้ายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองเพราะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย โดยฟิลิปปินส์เพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คือนายโรดริโก ดูเตอร์เต จากพรรคพีพี-ลาบาน นายดูเตอร์เตโดดเด่นด้านปราบปรามยาเสพติดและคอร์รัปชัน ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างท่วมท้น

สิ่งที่ท้าทายต่อจากนี้คือต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศ รวมไปถึงตลาดตราสารหนี้ให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนอีกมาก ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ยังถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป ชี้วัดได้จากดัชนีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้(5 year Credit Default Swap spread)ยังอยู่ในระดับต่ำ

ท้ายที่สุด แม้ขณะนี้จะถือว่าตลาดตราสารหนี้ของฟิลิปปินส์ยังอยู่ในช่วง “ตั้งไข่” และยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากนัก อีกทั้งยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของขนาดและสภาพคล่อง การส่งเสริมบทบาทของตลาดเพื่อช่วยให้ทั้งรัฐบาลและเอกชนสามารถบริหารจัดการเงินกู้ยืมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การรักษาเสียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมไปถึงวิธีจัดการความผันผวนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น แต่ก็เชื่อว่า ตลาดตราสารหนี้ในฟิลิปปินส์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากและจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศเพราะเอื้อประโยชน์ทั้งผู้ปรารถนาออมเงินและผู้ต้องการเงินทุนในอนาคต จนตลาดตราสารหนี้ของฟิลิปปินส์สามารถก้าวเข้ามามีบทบาทในเวทีอาเซียนในฐานะตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนและให้ผลตอบแทนอย่างน่าพอใจในระยะยาว