posttoday

กองทุนทริกเกอร์ … ข้อมูลที่ควรรู้ก่อนลงทุน

21 กรกฎาคม 2559

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

หลักทั่วไปในการลงทุน คือผู้ลงทุนควรจะต้องรู้จักตนเอง ต้องรู้ว่าตนเองมีเป้าหมายในการลงทุนอย่างไร

รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน  นอกจากนี้ ก็ต้องรู้จักวิธีหาความรู้และทำความเข้าใจในตราสารทางการเงินให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งพิจารณาทางเลือกในการลงทุนด้วยว่า มีทางเลือกอะไรที่น่าสนใจ และเหมาะกับตัวเราบ้าง

ในเรื่องการทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนลงทุนนี้ ผมเคยได้ยกเรื่องของ “กองทุนทริกเกอร์” (trigger fund) ว่า อาจเป็นตัวอย่างของการที่ผู้ลงทุนเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ หากไม่ศึกษาให้ดี เพราะเป็นกองทุนที่มีลักษณะพิเศษอยู่พอสมควร

หากอธิบายสั้น ๆ trigger fund ก็คือ เป็นกองทุนที่ตั้งเป้าหมายเลิกกองเมื่อได้ระดับผลตอบแทนจุดหนึ่งตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน รวมทั้งระบุเงื่อนไขด้วยว่า หากผลตอบแทนเป็นหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (trigger หรือไม่ trigger) ภายในช่วงเวลาที่กำหนด จะดำเนินการอย่างไร เช่น คืนเงินแก่ผู้ลงทุนและเลิกกองทุน เมื่อผลตอบแทนบรรลุเป้าหมายที่กำหนด หรือถ้าครบระยะเวลาที่กำหนดไว้  แต่ผลตอบแทนยังไม่ถึงเป้าหมาย ก็อาจจะแปลงสภาพเป็นกองทุนเปิด ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถเลือกขายคืนหน่วยลงทุนได้ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะย้ำคือ ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า trigger fund ไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับผลตอบแทนตามระยะเวลาที่กำหนดนะครับ และระหว่างทางเกิดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนเกิดลดลงขึ้นมา อยากจะขายคืนหน่วยลงทุน เพื่อตัดขาดทุน ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ เวลาที่เห็นข้อมูลว่า กองนั้นก็ทริกเกอร์ กองนี้ก็ทริกเกอร์ ก็ควรศึกษาให้รอบด้านนะครับ เพราะกองที่ไม่ทริกเกอร์ก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาข้อมูลกองทุนทริกเกอร์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนนั้น ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ทั้งกองที่ทำได้หรือทำไม่ได้ตามเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะเลิกกองไปแล้วหรือกองยังดำเนินอยู่ก็ตามครับ ถึงจะได้ข้อมูลครบถ้วน

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจาก trigger fund ที่สูงกว่าหรือเพิ่มเติมจากกองทุนอื่น ๆ ที่มีนโยบายการลงทุนเหมือน ๆ กัน เช่น มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดตั้งกองทุนรวม ค่าธรรมเนียมการจัดการเต็มระยะเวลาเป้าหมาย แม้กองทุนจะถึงเป้าหมายก่อนระยะเวลาที่กำหนด หรือค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (back-end fee) กรณีที่ถึงเป้าหมาย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาเรื่องค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บนี้ให้ดีด้วยนะครับ

กองทุนทริกเกอร์ เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ลงทุน อย่างที่เรียนไปตอนต้นนะครับว่า  ก่อนลงทุนก็ต้องเข้าใจลักษณะสำคัญของตราสารให้ดี ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ครบถ้วนและเพียงพอ เพื่อจะได้ตัดสินใจให้ดีว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับตนอย่างไร รวมทั้งพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ที่มีอยู่ด้วย แล้วจึงค่อยเลือกลงทุนในสิ่งที่คิดว่าเหมาะกับตนเองที่สุดครับ

“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”