posttoday

ท่องเที่ยวไทยกับความยั่งยืน

20 กรกฎาคม 2559

โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ กองทุนบัวหลวง

โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ กองทุนบัวหลวง

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้กำลังเผชิญอุปสรรคนานัปการที่คอยฉุดรั้งการฟื้นตัว แต่นับว่าโชคดีเหลือเกินที่เราได้ “พระเอก” อย่างภาคการท่องเที่ยว (มูลค่า 16% ของจีดีพี ปี 2558) ช่วยเกื้อกูลหนุนให้วงจรเศรษฐกิจในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมาเติบโต

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยให้ภาคบริการของไทยในไตรมาสแรกของปีเติบโตถึง 18.8% เมื่อเทียบรายปี ความจริงอันน่าปีติเช่นนี้ ย่อมทำให้คนที่มองการณ์ไกลเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า แนวโน้มอันสดใสจะคงอยู่กับประเทศไทยต่อไปอีกนานแค่ไหน เราเชื่อว่าคำตอบต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ อาทิ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างมูลค่าในสินค้า-บริการ หรือความสำเร็จของแผนพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเก่าและใหม่ แต่ปัจจัยเหล่านี้จะไร้ประโยชน์ หากปราศจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เมืองไทยเสมือนเป็นเพชรเม็ดงามในสายตาผู้มาเยือน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลและป่าเขาของเรานั้น ดึงดูดทั้งชาวไทยด้วยกันและคนต่างชาติจากแดนไกลให้หลงใหล จนต้องเดินทางท่องเที่ยวชื่นชม และในปี 2558 องค์การการค้าโลก (WTO) จัดให้ภาคการท่องเที่ยวไทยอยู่ลำดับที่ 35 ในภาพรวม และลำดับที่ 16 ในด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลับกันในด้านความยั่งยืนทางธรรมชาติ เรานั้นอยู่เกือบรั้งท้าย (ลำดับที่ 116 จาก 141 ประเทศ)

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากมายมหาศาล และยังเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟู แต่ก็อาจกลายเป็นดาบสองคมได้ หากเราไม่มีความพร้อมที่จะดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

กรมการท่องเที่ยวได้ยกปัญหานี้ขึ้น พร้อมทั้งยังได้ผนวกสู่แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวปี 2558-60 ภายใต้ 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) ความยั่งยืนของปริมาณนักท่องเที่ยวต่อขีดความสามารถรองรับ (Sustainable Growth) และ (2) การรักษาระบบนิเวศ (Environmental Protection) พร้อมระบุว่าในหลายประเทศเริ่มแสดงจุดยืนจัดทำเป็นแผนระดับชาติ เพื่อเปลี่ยนงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นจุดแข็ง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในแบบยั่งยืน ซึ่งนับเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับภาครัฐ ที่จะศึกษาต่อยอดและนำมาประยุกต์ให้เกิดเป็นรูปธรรมในที่สุด

สำหรับภาคเอกชนนั้นเริ่มตระหนักถึงการปกป้องแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรม พร้อมทั้งแสดงบทบาทเชิงรุกอย่างจริงจัง อย่างเช่นบริษัท Minor Group (MINT) ซึ่งประกอบกิจการร้านอาหารและโรงแรมเป็นหลัก ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและอนุรักษ์แวดล้อมหลายโครงการด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือมูลนิธิ Golden Triangle Elephant ซึ่งสนับสนุนงานอนุรักษ์ช้างในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย โดยนำช้าง และควาญช้างพร้อมครอบครัว มาพักอยู่ในแคมป์ที่จัดขึ้น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของช้างบ้าน แต่ก็ยังครอบคลุมถึงดูแลช้างป่า และยังทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับช้าง รวมถึงส่งเสริมให้ใช้งานช้างอย่างเป็นธรรม ให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดทารุณกรรม ผ่านการร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น MINT ได้ผลักดันให้เกิดโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับกิจกรรม “เดินเที่ยวกับช้าง” ซึ่งทำให้แขกที่มาพักเกิดความรู้ความเข้าใจในสัตว์ประเภทนี้ และยังเป็นแม่เหล็กช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น จนกลายมาเป็นจุดแข็งของโรงแรมอนันตราสามเหลี่ยมทองคำในเครือ MINT ในที่สุด

ดังนั้น ความใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น ไม่เพียงจำเป็นสำหรับการอยู่รอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และการเติบโตของเศรษฐกิจชาติเท่านั้น แต่เราบริหารจัดการพร้อมกับเปลี่ยนมันให้เป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้กิจการท่องเที่ยวแข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้อีกด้วย องค์ประกอบที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในหลายด้านนั้น อาจสร้างขึ้นใหม่หรือทดแทนได้ แต่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่านั้น หากถูกทำลายลงเสียแล้ว ก็ยากที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่ในเวลาอันสั้น จึงอย่าให้สิ่งเหล่านั้นสูญหายไปก่อนที่เราจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของมันเลย