posttoday

การบริหารเงินลงทุนในการซื้อขายอนุพันธ์ ตอนที่ 4

11 กรกฎาคม 2559

โดย...บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

โดย...บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

การบริหารเงินลงทุนในการซื้อขายอนุพันธ์นั้นมีเทคนิคมากมายหลายวิธี ตั้งแต่วิธีที่ใช้แนวทางอย่างง่ายจนไปถึงขั้นที่มีความซับซ้อนมาก ๆ  แรงบันดาลใจในการเชียนบทความตอนที่ 4 นั้นเขียนขึ้นเพื่อแนะนำวิธีบริหารเงินลงทุนในอนุพันธ์สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้งานเพื่อซื้อขายได้ทันที โดยจะให้รายละเอียดในหัวต่าง ๆ พร้อมตัวอย่างการคำนวณเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ลองมาดูกันครับว่าผู้ลงทุนมือใหม่จะสามารถการบริหารเงินอย่างง่ายได้อย่างไร

กฏ 2% สำหรับมือใหม่

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ในการซื้อขายอนุพันธ์แต่ละครั้งไม่ควรเสี่ยงที่จะเสียเงินเกิน 2% ของเงินลงทุนที่มีทั้งหมด ซึ่งตัวเลข 2% จะทำให้ยอดขาดทุนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อยอดเงินลงทุนทั้งหมดไม่มาก และผลการซื้อขายในระยะยาวแล้วหมดตัว (Risk of Ruin) มีน้อย

ตัวอย่างของการใช้งานกฏ 2% ถ้าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท ดังนั้นในการซื้อขาย 1 ครั้งผู้ลงทุนไม่ควรเสี่ยงที่จะเสียเงินเกิน 10,000 บาท หากผู้ลงทุนกำลังสนใจทำสัญญาซื้อ SET50 Index ที่ราคา 900 จุด โดยมีระดับราคาตัดขาดทุน 880 จุด ผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นสูงสุดจะเท่ากับ (900-880)*200 = 4,000 บาทต่อสัญญา (SET50 Index Futures มี ตัวคูณดัชนีเท่ากับ 200) ตามกฎ 2% จำนวนสัญญาสูงสุดที่ผู้ลงทุนจะซื้อ SET50 Index Futures ได้ไม่เกิน 10,000/4,000 = 2.5 สัญญา ปัดเศษลงให้เป็นจำนวนเต็มคือ ไม่เกิน 2 สัญญา

กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม

ในการซื้อขายอนุพันธ์สิ่งที่จะไม่แนะนำไม่ได้คือ ต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการซื้อขาย การกระจายความเสี่ยงของการซื้อขายอนุพันธ์นอกจากทำโดยการซื้อขายอนุพันธ์หลายตัวแล้ว ยังสามารถทำได้โดยซื้อขายอนุพันธ์ตัวเดียวกันแต่ใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันด้านระยะเวลาถือครองต่างกันก็ได้ อย่างไรก็ตามการกระจายความเสี่ยงควรทำในระดับที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อยเกินไป การกระจายความเสี่ยงที่มากเกินไปก็มีข้อเสีย เนื่องจากเมื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเกินระดับหนึ่งไปแล้วความเสี่ยงในการซื้อขายโดยรวมกลับไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำผู้ลงทุนต้องเสียเวลาในการติดตามมากเกินไป สำหรับนักลงทุนมือใหม่แนะให้ให้จัดสรรเงินลงทุนให้สามารถกระจายความเสี่ยงลงทุนในอนุพันธ์ประมาณ 8-10 ตัว ซึ่งหมายความว่าเงินที่จะใช้ในการซื้อขายอนุพันธ์แต่ละตัวไม่ควรเกิน 10-15% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่มี เพื่อจะทำให้สามารถซ้อขายอนุพันธ์หลายตัวได้พร้อมกัน

หลีกเลี่ยงอนุพันธ์ที่มี Correlation

การกระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อขายอนุพันธ์หลายตัวพร้อมกันอาจไม่เป็นการกระจายความเสี่ยง ถ้าอนุพันธ์ที่ซื้อขายอ้างอิงกันสินค้าที่ราคามีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน (มี Correlation กัน) ยกตัวอย่างเช่น การซื้อขาย Single Stock Futures ที่อ้างอิงกับหุ้น PPT PPTEP PTTGC TOP BCP พร้อม ๆ กัน หรือการซื้ออนุพันธ์ที่อ้างอิงทองคำ โลหะเงิน และแพลทินัม พร้อม ๆ กัน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นแทนที่จะเป็นการกระจายความเสี่ยง คล้ายกับการซื้ออนุพันธ์ตัวเดียวด้วยเงินจำนวนมาก เนื่องจากหุ้นอ้างอิงเหล่านี้มัก

เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

เมื่อผู้ลงทุนเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น ผู้ลงทุนอาจเลือกใช้แนะวทางการบริหารเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ โดยการปรับสัดส่วนของความเสี่ยงและจำนวนเงินลงทุนในแต่ละครั้งให้เหมาะกับสถานะการณ์ หรือตามผลการซื้อขายที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าผู้ลงทุนมือใหม่ที่ทดลองใช้หลักการบริหารเงินเบื้องต้นที่แนะนำไป จะสามารถเอาตัวรอดในการซื้อขายอนุพันธ์ได้โดยที่ไม่เกิดผลขาดทุนเสียหายร้ายแรง

สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจ สามารถหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขายอนุพันธ์ได้จากโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการ หรือ เว็บไซต์ www.tfex.co.th