posttoday

อิตาลีออกจากยูโร ... ที่ไม่เกี่ยวกับผลบอล

07 กรกฎาคม 2559

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย


พอดีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเห็นหัวข้อข่าว “Italy exits euros” แล้วตกใจ อ่านไปอ่านมาก็ร้อง อ๋อ ที่แท้หมายถึงอิตาลีดวลจุดโทษแพ้เยอรมนีตกรอบ"ยูโร 2016" นั่นเอง ไม่ใช่ว่าอิตาลีจะออกจากกลุ่มยูโรโซนแต่อย่างใด แต่ที่ตกใจก็เพราะว่าหัวข้อข่าวนั้นไปกระตุ้นต่อมความ “กลัว” ของเรา หลังเกิดเหตุการณ์ Brexit ขึ้นแล้ว เราเองก็เกรงว่าจะเกิดอาการ “ลาม” ของการไม่เอา EU หรือการรวมกลุ่มเป็นยูโรโซน ไปยังประเทศอื่นๆ ดังนั้น ในที่นี้ผมขอมาพูดเกี่ยวกับอิตาลี ที่กำลังจะมีการลงประชามติไม่เกินเดือน ต.ค. นี้

การลงประชามติในอิตาลี ที่จริงไม่เหมือนการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (UK) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ในกรณีของอิตาลีไม่ใช่การออกเสียงว่าจะอยู่ต่อหรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แต่เป็นการรับหรือไม่รับการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็ไม่น่าต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับการสมาชิกภาพยูโรโซนของอิตาลีแต่อย่างใด

ที่มาที่ไปของการลงประชามติของอิตาลีครั้งนี้ คือ การที่อิตาลีมีระบบ 2 สภา แต่ทั้งสองสภานั้นมีอำนาจเท่าๆ กัน กฎหมายที่จะออกมาต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา ทำให้บ่อยครั้งที่กฎหมายสำคัญๆ ถูกเตะถ่วงโยนไปโยนมาระหว่างสองสภาไม่มีสิ้นสุด แต่ในการลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ นั้น กลับใช้เสียงแค่สภาใดสภาหนึ่งก็ถือว่าเพียงพอ จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในอดีตการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะปรับประเด็นสำคัญๆ เหล่านี้ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้การเมืองของอิตาลีมีเสถียรภาพมากขึ้น (แต่ก็มีการต่อต้านว่าเป็นการรวบอำนาจ)และก็ไม่เกี่ยวข้องกับเอาหรือไม่เอา EU/ยูโรโซนอยู่ดี

อีกทั้ง ผู้นำประเทศอื่นคงเห็นกรณีอังกฤษเป็นตัวอย่างแล้ว นายกฯ เรนซี ของอิตาลี คงไม่ได้อยู่ดีๆ ลุกขึ้นมา “เดิมพัน” เปิดให้มีการลงประชามติเสียเอง เหมือนดังเช่น “ว่าที่อดีตนายกฯ” คาเมรอน ของอังกฤษเคยทำไว้จนเป็นเรื่องถึงทุกวันนี้

แต่หลังจาก Brexit ผ่านไป ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปเพิ่มขึ้น ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติ หรือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็อาจถือเสมือนเป็นการลงประชามติเอาหรือไม่เอา EU/ยูโรโซนไปโดยพฤตินัย (De facto)เสียแล้ว

ความเสี่ยงของการลงประชามติของอิตาลีอยู่ที่นาย มัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลีคนปัจจุบัน ดันไป “เดิมพัน” อีกแบบ โดยเขาประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งผลโพลล์ล่าสุด (3 ก.ค. ที่ผ่านมา) ถ้านับเฉพาะผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย ชี้ว่าเสียงที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่ที่ 48%และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 52% (ตัวเลขคุ้นๆ กับไหมครับเท่ากับผล Brexit เลย) แต่ยังมีผู้ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจอยู่สูงถึง 30-40% จึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง(ตอน Brexit ก็พูดกันเช่นนี้ครับ ไม่ตัดสินใจตอนนั้นอยู่ประมาณ 20%)

แต่ถ้าเกิดว่าทำประชามติแล้วไม่ผ่าน และนายกฯ ลาออกจริง ก็อาจเปิดทางให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ และมีโอกาสที่พรรคที่ไม่เอาการรวมกลุ่มใช้เงินสกุลยูโรอย่างเช่น พรรค Movimento 5 Stelle (Five-Star Movement, M5S) เข้ามาดำรงตำแหน่ง อันเป็นการปูทางไปสู่การลงประชามติเกี่ยวกับยูโรโซนในที่สุด ถ้านับคะแนนความนิยมในปัจจุบัน พรรค Partito Democratico (Democratic Pary, PD) ของนายกฯ เรนซี ยังได้รับคะแนนนิยมมากสุดอยู่ ที่ประมาณ 30%  แต่ก็ลดลงมากจากเดิมที่เคยได้ 42-43% เมื่อ 2 ปีก่อน และคะแนนเสียงปัจจุบันก็สูสีอย่างมากกับพรรค M5S ซึ่งมีคะแนนนิยมอยู่ที่ประมาณ30%เช่นกัน ทั้งที่มีที่นั่งในสภาล่างของอิตาลีอยู่เพียง 14% เท่านั้นจากผลการเลือกตั้งในปีก่อน นับกว่า M5S ซึ่งจุดกระแสไม่เอายูโรโซน (แต่ยังอยู่ใน EU ต่อไป)ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมานี้เอง

ความไม่แน่นอนในอนาคตยังมีอยู่อีกมากมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะผ่านประชามติในเดือน ต.ค. นี้ก็เป็นได้ ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าอิตาลีจะ “Exit” หรือหากมีการเลือกตั้งใหม่พรรค M5Sอาจไม่ชนะการเลือกตั้งก็ได้ หรือหากพรรค M5Sชนะเลือกตั้งและเปิดให้ลงประชามติผลก็อาจออกมาว่าอยากจะอยู่ในยูโรโซนต่อไปก็ได้ ดังนั้น หากมองในเชิงความเป็นไปได้ ก็ถือว่าโอกาสที่อิตาลีจะออกจากยูโรโซนยังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติในเดือน ต.ค. นี้ ก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของอิตาลีในยูโรโซนให้เกิดขึ้น ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจอิตาลี และสร้างกระแส (Momentum)ของการไม่เอายูโรให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วย คงไม่ใช่ภาพที่สวยหรูเท่าไหร่ และต้องคอยติดตามเป็นอย่างดีครับ

แต่ก่อนที่จะถึงการลงประชามติของอิตาลีในเดือน ต.ค. เรามองว่าธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกน่าจะมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากผลการโหวต Brexit สภาพคล่องใหม่ที่จะเข้ามานี้ น่าจะพอผลักดันสินทรัพย์เสี่ยงให้ปรับตัวดีขึ้นนะครับ จึงน่าจะเป็นเวลา 2-3 เดือนที่ยังน่าจะดีอยู่ หลังจากนั้นก็รอไปลุ้นผลการลงประชามติของอิตาลีอีกทีครับ แล้วก็อย่าลืมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. นี้, การเลือกตั้งนายกฯ เนเธอร์แลนด์ ในไตรมาสแรกปีหน้า รวมไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งกระแสการไม่เอายูโรนับรุนแรงมากทีเดียวทั้งในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ไว้มีโอกาสคราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะครับ