posttoday

หุ้นไทยผันผวนตามตลาดโลก

27 มิถุนายน 2559

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต email: [email protected]

ผลการลงประชามติเซอร์ไพร์สด้านลบต่อตลาดการเงินทั่วโลก สหราชอาณาจักร(ยูเค) เลือกแยกตัวออกจากอียู ก่อให้เกิดแรงขายระลอกใหม่ในสินทรัพย์เสียง ทั้งหุ้น น้ำมัน เงินปอนด์ และเงินยูโร ฯ แล้วโยกเข้าสินทรัพย์เปลอดภัยสูง โดยเฉพาะทองคำ พันธบัตร และเงินเยน

การปรับฐานแรงของสินทรัพย์เสี่ยงพร้อมๆ กัน ได้กระตุ้นให้เกิดแรงขายชอร์ตเซลล์หุ้น ผู้จัดการกองทุนหุ้นโดยเฉพาะกลุ่มต่างชาติส่วนหนึ่งจำเป็นต้องขายเพื่อสำรองเงินสดเผื่อการไถ่ถอนของผู้ถือหน่วยลงทุน (Redemption Pressure)

คาดว่า ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ก่อนที่ค่าเงินปอนด์และยูโรจะหาดุลยภาพใหม่เจอ ท่ามกลางความกังวลว่า แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอังกฤษจะฉุดรั้งเศรษฐกิจยูโรโซน รวมถึงความเสี่ยงที่อีก 5 ประเทศสมาชิก มีแนวคิดจะแยกตัวออกจากอียู

ความผันผวนของสกุลเงินหลัก รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ จะกระตุ้นให้การปรับพอร์ตดำเนินต่อไป โดยจะปั่นป่วนสูงในช่วงสัปดาห์แรกๆ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะอังกฤษ ยูโร ญี่ปุ่นต่างเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจากการชี้นำผ่านการแสดงความเห็น ไล่ไปจนถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด และการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ขณะที่เฟดมีแนวโน้มจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปอีกหลายเดือน จนอาจถึงขั้นไม่ขึ้นเลยในปีนี้ ต่างจากที่เคยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้

กรณีเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจำกัดจากประเด็น Brexit ไทยส่งออกไปยูเคในปี 58 คิดเป็น 1.8% ของการส่งออกรวม และส่งออกไปอียูที่ไม่รวมยูเค คิดเป็น 8.4%

นักท่องเที่ยวยูเคเข้ามาไทยราว 3% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทย ไทยพึ่งเงินลงทุนโดยตรงจากยูเคไม่ถึง 1%

นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าตลาดเกิดใหม่อื่น เนื่องจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง มีหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่ต่ำ ขณะที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูง

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองการอ่อนค่าของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะที่เป็นประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของเรา เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ที่ถูกกระทบมากกว่าเรา หากสกุลเงินเหล่านี้อ่อนผิดปกติจะสร้างกดดันต่อเงินบาทและสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินบาท

ด้านผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินไทยก็อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากความเชื่อมโยงทางการเงินโดยตรงกับสถาบันการเงินในยูเคและอียูคิดเป็นเพียง 1.31% ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้สถาบันการเงินไทยยังมีการเตรียมความพร้อมและป้องกันด้านเงินตราไว้ล่วงหน้าแล้ว

สรุปว่า ประเด็น Brexit มีผลค่อนข้างน้อยต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินไทย อย่างไรก็ดี ไทยยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากความกังวลต่ออนาคตของยูเคและอียู รวมถึงแรงขายปรับพอร์ต โดยเฉพาะจากผู้ลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้การถือครองหุ้นไทยของผู้ลงทุนต่างชาติได้ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี อยู่แล้ว แรงขายส่วนนี้หากจะมีก็น่าจะกระทบระยะสั้นเท่านั้น

หากความผันผวนจาก Brexit ฉุดราคาหุ้นพื้นฐานดีต่ำผิดปกติ มองเป็นโอกาสซื้อ ผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะธนาคารกลางสำคัญ ยังคงมีเครื่องมือในดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจ ขณะที่เฟดมีแนวโน้มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

การร่วมมือแทรกแซงดูแลรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอาจเกิดขึ้น หากตลาดผันผวนผิดปกติเกินไป

ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในบ้านเราที่จะคืบหน้าในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่มุมมองบวกต่อกำลังซื้อในประเทศ หลังราคาสินค้าเกษตรปรับดีขึ้นมาก และปัญหาภัยแล้งบรรเทาลง