posttoday

BREXIT ยังต้องใช้เวลา

27 มิถุนายน 2559

โดย...บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

โดย...บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

ผลการลงประชามติสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ด้วยสัดส่วน 51.9%: 48.1% หรือคิดเป็นคะแนน 17.4 ล้านคน : 16.14 ล้านคน

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งในเดือน ต.ค. ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะ คาเมรอน ถือเป็นตัวต้นเรื่อง สืบเนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558 พรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคอนุรักษ์นิยม ได้ยกการแยกตัวออกจากEuro Zone เป็นนโยบายในการหาเสียง และทำให้ได้รับความนิยมสูงมาก จน คาเมรอนซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีแม้จะเคยปฏิเสธไม่ยอมให้มีการลงประชามติมาแล้ว เมื่อ ปี 2555ต้อง สัญญาว่าหากพรรคอนุรักษ์นิยมชนะ เขาจะจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องนี้

เมื่อผลการลงประชามติออกมาแบบนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ คาเมรอน ต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้คือ รัฐสภาของอังกฤษ ต้องนำประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปเข้าพิจารณา ซึ่งการร่างกฎหมายไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากนัก เพราะสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังอยากให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อ แต่คาดว่าสุดท้ายก็ไม่น่าต้านทานกระแสของประชาชนส่วนใหญ่ และต้องมีมติให้ออกจากสหภาพยุโรปตามผลประชามติ ทั้งนี้ยุโรปยังมีความหวังว่าการเลือกตั้งในประเทศที่จะเกิดขึ้นหลัง คาเมรอน ลาออกไปแล้วนั้น จะมีการนำเสนอนโยบายให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อหรือไม่ และประชาชนจะตอบสนองกันแค่ไหน ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กระบวนการในการทำข้อตกลงที่จะออกจากยูโรโซน ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีการเจรจากันอีกหลายรอบ ซึ่งทำให้ยังมีความหวังที่อังกฤษจะอยู่กับยูโรโซนต่อก็ได้ หากมีการแก้ไขกฎเกณฑ์เดิมต่างๆที่ทำให้ประชาชนอังกฤษไม่พอใจ

ผลกระทบต่างๆจะเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตอนนี้ก็คือ ประเทศอื่นๆในยูโรโซนเริ่มมีความคิดที่จะทำประชามติตามอังกฤษแล้ว ส่วนผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นต่ออังกฤษ สถาบันจัดอันดับชั้นนำอย่าง Moody หรือ S&P ก็ล้วนออกมาเกริ่นแล้วว่าจะต้องมีการทบทวนอันดับเครดิตของอังกฤษ คาดว่าผลกระทบอื่นๆจะตามมาเป็นระลอก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอังกฤษ ธนาคารกลางทั้งยุโรปและอังกฤษ จะมีการตั้งต๊ะแถลงนโยบายรับมือผลกระทบและความผันผวนของตลาดที่เกิดขึ้น

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง รัฐบาลอังกฤษ ธนาคารกลางทั้งยุโรปและอังกฤษ ได้มีการคิดแผนรับมือกรณี BREXIT ไว้อยู่แล้ว และน่าจะมีการออกมาตรการนโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจโดยรวม และเชื่อว่าจะมีผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ยได้ยากมากขึ้น และทำให้ปีนี้ Fed อาจไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีก และทำให้โลกยังอยู่ภายใต้กระแสดอกเบี้ยต่อไปอีกนาน เอื้อให้สภาพคล่องในสินทรัพย์เสี่ยงมีปริมาณล้นตลาดอย่างที่เป็นอยู่ต่อไป ถือว่าหนุน Sentiment การลงทุนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ Emerging Market ที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว