posttoday

BREXIT กับตลาดหุ้นยุโรป

23 มิถุนายน 2559

โดย รัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส

โดย   รัชต์  โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส

สวัสดีครับ  ในช่วง 2 สัปดาห์นี้มีประเด็นร้อนให้เกาะติดกันอย่างต่อเนื่องนะครับ เริ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาจนถึงสัปดาห์นี้ที่นักลงทุนทั่วโลกรอลุ้นผลประชามติ Brexit ในวันที่ 23 มิถุนายนว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่า มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเลยที่หวั่นใจว่า ถ้าผลประชามติออกมาตามโพลล์จากหลายสำนัก คือ ชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่พร้อมใจกันโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจาก EU ไปจริงๆ ตลาดหุ้นยุโรปจะเป็นเช่นไร ผู้ลงทุนควรจะเลือกออกจากตลาดนี้ไปด้วยหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ประชามติ Brexit  เป็นเรื่องใหญ่ของคนในสหราชอาณาจักร และเป็นเรื่องใหม่ที่ผุดขึ้นมาสร้างความหวั่นไหวให้ตลาดเงินและตลาดทุนด้วยเหตุที่ไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ยิ่งเมื่อหนังสือพิมพ์ The Independent เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดว่า ฝั่งที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสมาชิกภาพของ EU นำโด่งถึง 55%  ขณะที่ผู้ต้องการให้คงอยู่ใน EUต่อไปอยู่ที่ 45% ก็ทำให้นักลงทุนวิตกต่อความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นและพากันลดสัดส่วนการลงทุนลง

ถ้าถามว่าออกจาก EU แล้วสหราชอาณาจักรจะได้อะไร ผมมองว่า สิ่งที่จะได้แน่นอนคือ  ความอุ่นใจในแง่ความมั่นคงและความปลอดภัยของสหราชอาณาจักร เนื่องจากภาระจำยอมจากการเปิดรับผู้อพยพตามข้อตกลงของ EU จะหมดไป ขณะเดียวกันจะลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นสมาชิก EU จำนวนกว่า 1 หมื่นล้านปอนด์ต่อปีก็หมดไปด้วย แต่ประเด็นที่หลายท่านกังวลหนีไม่พ้นประเด็นด้านเศรษฐกิจ เพราะต้องไม่ลืมครับว่า สหราชอาณาจักรมีรายได้มหาศาลเช่นกันจากการส่งออกโดยมีประเทศที่เป็นสมาชิกEU เป็นคู่ค้าใหญ่ ทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและภาษีการค้าจาก EU อยู่อีกไม่น้อย และยังเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของภูมิภาคยุโรปด้วย เป็นเหตุให้เกิดความหวั่นวิตกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วตลาดหุ้นอังกฤษและตลาดหุ้นยุโรปจะดิ่งเหวหรือไม่ มิหนำซ้ำหากเลือกจะหันหลังให้กันจริงๆ ก็ใช่ว่าจะปุบปับจบสัมพันธ์กันได้ทันที ยังคงมีกระบวนการอีกหลายขั้นกว่าจะตกลงและต่อรองกันได้สมบูรณ์ ซึ่งหากยืดเยื้อยาวนาน ความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นก็คงอยู่นานไปจนกว่าข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU จะชัดเจน หลายท่านยังกังวลต่อไปด้วยว่า จะต้องลุ้นต่อหรือไม่ว่า เมื่อขาใหญ่อย่างสหราชอาณาจักรยอมทิ้ง EU ไปแล้ว อีก 19 ประเทศสมาชิกที่เหลือจะมีใครอยากตามไปด้วยหรือเปล่า

ในมุมมองของผม  ผมมองว่า ผลกระทบจาก Brexit จะสร้างความผันผวนสูงในตลาดหุ้นยุโรปในระยะสั้น แต่หากมองกันในระยะยาวแล้วยังมีปัจจัยอีกหลายข้อที่หนุนการเติบโตของตลาดหุ้นยุโรป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และในด้านบริษัทจดทะเบียนก็ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

หากจะมองลึกลงไปอีกดัชนี Stoxx EUROPE 600 ยังเทรดกันอยู่ต่ำกว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไร 15 เท่า ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเมื่อเทียบกับดัชนี S&P500 ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้ว หุ้นยุโรปก็ยังถูกกว่าถึง 17%  อัตราการจ่ายปันผลถือว่าอยู่ในระดับที่สร้างโอกาสรับผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจเฉลี่ยที่ 3.95% สูงกว่าปันผลจาก S&P500 Index ซึ่งอยู่ที่ 2.2% เท่านั้น (ที่มา: Bloomberg as of 15 June 2016) ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้ผมยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรปในระยะยาวอยู่ครับ ส่วนความผันผวนในตลาดอาจเป็นโอกาสให้ทยอยสะสมสสำหรับท่านผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและอดทนกับความผันผวนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนระยะยาวจากตลาดหุ้นยุโรปต่อไปครับ
 
ผู้ลงทุนโปรด “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”