posttoday

Cost Benefit คุ้มเปล่า?

23 มิถุนายน 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์,CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์,CFP

วันนี้เป็นวันสำคัญหนึ่งของโลกเลยครับ เป็นวันที่ประชาชนชาวอังกฤษจะตัดสินใจว่าจะอยู่ในสหภาพยุโรป (EU) ต่อไปหรือไม่ หรือที่เรียกกันว่า Brexit ระหว่างนี้ก็มีผลโหวตต่างๆนาๆ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ระหว่างผู้ที่โหวตว่าจะอยู่ต่อ กับ ผู้ที่โหวตว่าจะไป โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามยกข้อเสียของการตัดสินใจในแต่ละฝ่ายมาโน้มน้าวในการตัดสินใจ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผมเชื่อว่าชาวอังกฤษคงจะใช้หลัก cost benefit คือต้นทุน ผลประโยชน์ว่า ทางเลือกไหนจะดีกว่ากัน โดยต้นทุนจะไม่ใช่หมายถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่นเรื่องเงิน อย่างเดียว  แต่รวมถึงทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น ภาระ เวลา ความเสี่ยง ฯลฯ และผลประโยชน์ก็เช่นกันจะไม่ใช่หมายถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น เรื่องเงิน อย่างเดียวเช่นกัน  แต่รวมถึงทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิประโยชน์ต่างๆ อำนาจต่อรอง บทบาทในตลาดโลก ฯลฯ

ตัวอย่างของต้นทุนหรือเหตุผลของคนที่ตัดสินใจจะออกจาก EU ก็คือ อังกฤษจ่ายค่าสมาชิกให้ EU อยู่ £12.9 billion ต่อปี หรือเฉลี่ย £35 million ต่อวัน ทั้งนี้ อังกฤษจ่ายค่าสมาชิกสูงเป็นอันดับ  4 จากทั้งหมด 28 ประเทศในยูโรโซน การที่อังกฤษไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินด้วยตนเอง หรือ การที่อังกฤษต้องรับภาระทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การรับผู้อพยพ เป็นต้น

ส่วนตัวอย่างของต้นทุนหรือเหตุผลของคนที่ตัดสินใจจะอยู่ต่อ EU ก็เช่น การสูญเสียข้อตกลงการค้า Free Trade Agreement และเงื่อนไขภาษีของการค้าขายในกลุ่ม EU อาจกระทบการส่งออกหลักของอังกฤษที่ปัจจุบันส่งออกไปยัง EU คิดเป็น 45% ของการส่งออกทั้งหมด

หากเราสังเกตดู ทั้ง 2 ฝ่ายต่างจะพูดถึงผลเสียหรือ cost ของการตัดสินใจทั้งสิ้น ไม่ค่อยมีใครพูดถึงประโยชน์ที่จะได้เลย เหตุผลก็เพราะคนเรามักจะให้น้ำหนักกับความเจ็บปวดหรือความสูญเสีย คือ cost หรือต้นทุนค่าใช้จ่าย มากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ ก็คือ การรายงานผลสำรวจของสำนักข่าวต่างๆ ถามว่ามีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ หลายคนอาจมองว่าไม่น่าจะมีผล แต่จริงๆมีผลมากครับ เพราะหลายครั้งคนเราไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลเสมอไป ส่วนใหญ่ตัดสินใจบนความเชื่อด้วยซ้ำ ดังนั้น หากคะแนนผลสำรวจไปทางฝ่ายใดมากกว่า ก็อาจทำให้คนที่ยังไม่ตัดสินใจตัดสินใจไปทางนั้น เหตุผลก็เพราะความเชื่อของคนอีกนั่นแหละ ที่มองว่าการตัดสินใจตามคนส่วนใหญ่ปลอดภัย และน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ตรงนี้ก็เลยเป็นช่องทางของคนที่ไม่สุจริตปลอมหรือปั้นแต่งผลสำรวจหลอกๆเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ออกมา ตรงนี้แหละครับที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาถึงไม่อนุญาตให้รายงานผลสำรวจก่อนปิดหีบเลือกตั้ง

เมื่อมองด้าน cost แล้ว เราก็ต้องมามองด้าน  benefit หรือ ประโยชน์ที่ได้รับ จริงๆแล้วชาวอังกฤษถึอว่ามีข้อมูลครบในการตัดสินใจเลยทีเดียว เพราะเป็นสมาชิก EU มาหลายปีแล้ว ย่อมรู้ดีว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นสมาชิก EU ตอนที่ตัดสินใจเข้า EU ในครั้งนั้น ได้อย่างที่หวังหรือไม่ มากกว่าหรือน้อยกว่าที่หวัง ประโยชน์ที่ได้ใช่ประโยชน์หลักที่ตนเองหรือไม่ หรือสิ่งที่ได้กลับเป็นประโยชน์รองไม่ใช่ประโยชน์หลัก

การตัดสินใจออกจาก EU จะทำให้ต้องเสียประโยชน์ทั้งหมดหรือไม่ หรือเสียเฉพาะประโยชน์รอง หากเสียเฉพาะประโยชน์รองที่ไม่สำคัญ การตัดสินใจคงง่ายมาก เหมือนอย่างการเดินทางด้วยเครื่องบิน ประโยชน์หลัก คือ การเดินทางที่รวดเร็ว หลายคนที่เลือกชั้นประหยัด เพราะประโยชน์หลักคือการเดินทางถึงที่หมายยังคงบรรลุอยู่ โดยยอมเสียประโยชน์รอง คือ ความสะดวกสบาย เพราะเมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น กับความสะดวกสบายที่ได้เพิ่มขึ้น รู้สึกคุ้มค่ากว่า

แต่หากเสียประโยชน์หลักด้วย ก็ต้องมองหาทางเลือกอื่นที่รักษาประโยชน์หลักไว้ แต่คำนึงถึง cost benefit แล้วคุ้มค่าสุด

มองเขาแล้วก็มามองเรา อีกไม่นานเราก็ต้องโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ใช้เหตุผลศึกษาข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญอย่างเข้าใจก่อนตัดสินใจครับ
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ