posttoday

ลุ้นอังกฤษอยู่ต่อ

20 มิถุนายน 2559

โดย....พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต

โดย....พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต email: [email protected]

การลงประชามติว่า สหราชอาณาจักร (UK) จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู (Brexit) หรือไม่ จะสร้างแรงกระเพื่อม ไม่ใช่แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่
ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ Brexit เป็นประเด็นร้อนที่สร้างความวิตกกังวลในตลาดการเงินทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนส่วนหนึ่ง “หลบภัย” หันไปหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตร ทองคำ เงินเยน เป็นต้น

ศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นยุโรปเด้ง 1.4% ราคาน้ำมันดิบเบรท์ดีด 4.2% เนื่องจากตลาดมีมุมมองบวกว่า UK อาจตัดสินใจอยู่กับอียูต่อไป หลังการเสียชีวิตของนางโจ ค็อกซ์ สส.อังกฤษ โดยเธอเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สนับสนุนให้อังกฤษยังคงอยู่ในอียูต่อไป

น่าสังเกตว่า บริษัทรับพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่มีสถิติ “ความแม่นยำสูง” ในการทำนายผลการลงคะแนนทางการเมือง ยังคาดการณ์ว่า UK จะตัดสินใจเลือกอยู่กับอียูต่อไป สวนทางกับโพลล์ที่สำรวจผ่านอินเตอร์เน็ต

กรณี UK ถอนตัวออกจากอียู จะส่งผลกระทบผ่าน 2 ช่องทางหลัก อันได้แก่ ช่องทางการค้า และช่องทางการไหลของกระแสเงินทุน

ความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกับ UK กับตลาดเกิดใหม่ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ กรณีประเทศไทยส่งออกโดยตรงไป UK เพียง 2% ของการส่งออกรวม ขณะที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยว UK คิดเป็น 3% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทย นอกจากนั้นไทยพึงการลงทุนโดยตรงจาก UK เพียง 1%

ความเสี่ยงทางการค้า จากการที่ UK เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยและส่งผลลบต่อปริมาณการค้าจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ยกเว้นภาวะถดถอยของ UK ฉุดรั้งเศรษฐกิจอียูให้ถดถอยตามไปด้วย แรงกระเพื่อมจะมากขึ้น เนื่องจากไทยส่งออกไปยังอียูคิดเป็นราว 9% ของการส่งออกรวม

อย่างไรก็ดี ตลาดเกิดใหม่จะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน กรณีประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ทุนสำรองเงินตราอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งรวมถึงไทย ย่อมมีภูมิคุ้มกันดีกว่าประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ด้านความเชื่อมโยงของตลาดการเงิน กระแสเงินทุนจะอ่อนไหวต่อประเด็น Brexit หากเงินปอนด์อ่อนค่ามากอย่างรวดเร็ว การปรับพอร์ตลดการถือครองสินทรัพย์อาจดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ดี เงินปอนด์ได้อ่อนค่าลงอย่างมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สะท้อนความเสี่ยง Brexit ไปค่อนข้างมาก สวนทางเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ ขณะที่บอนด์ยีลของ UK สูงกว่าของอียูมาก

กล่าวได้ว่า เงินปอนด์อ่อนกว่าปัจจัยพื้นฐานมากอยู่แล้ว หาก UK เลือกอยู่ในอียูต่อ ค่าเงินปอนด์จะเด้งอย่างรวดเร็ว รวมถึงตลาดหุ้นยุโรป และสินทรัพย์เสี่ยงอื่น

กรณีผลการลงประชามติ UK เลือก Brexit นักลงทุนไม่ควรกังวลมากเกินไปอยู่ดี เนื่องจาก UK ยังมีเวลาเตรียมการออกจากอียูต่อไปอีกระยะหนึ่ง เช่น 2 ปี นอกจากจะเปิดโอกาสให้มีเวลาปรับตัวมากขึ้นแล้ว ยังเปิดช่องทางไปสู่การเจรจาเพื่อลดทอนผลกระทบต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้น ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกมีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนบทบาท หันมาพูดสร้างความเชื่อมั่น ธนาคารกลางสำคัญอาจถึงขั้นอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติม เพื่อลดความผันผวนระยะสั้น กรณีที่ตลาดการเงินตอบสนองประเด็น Brexit รุนแรงเกินเหตุ ขณะที่เฟดอาจเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดให้ยาวนานออกไปอีก เป็นต้น

สรุปว่า ประเด็น Brexit มีผลค่อนข้างน้อยต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินไทย สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกยังคงสูงมาก จากการใช้มาตรการ QE และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

หากความผันผวนจาก Brexit ฉุดราคาหุ้นพื้นฐานดีต่ำผิดปกติ มองเป็นโอกาสซื้อ ความคืบหน้าในการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่กำลังซื้อมีแนวโน้มดีขึ้น หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์, ราคาสินค้าเกษตรปรับดีขึ้นมาก และปัญหาภัยแล้งที่บรรเทาลง