posttoday

Brexit ฉุดความเชื่อมั่นระยะสั้น

13 มิถุนายน 2559

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์.ธนชาต

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์.ธนชาต email: [email protected]

ความวิตกที่ว่าอังกฤษอาจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ได้กลายมาเป็นประเด็นฮอทที่สร้างความวิตกกังวลในตลาดการเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรม ขณะที่นักลงทุนส่วนหนึ่ง “หลบภัย” หันไปหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตร ทองคำ เงินเยน เป็นต้น

โพลหลายสำนักช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่า สัดส่วนผู้สนับสนุน Brexit เริ่มนำหน้าผู้สนับสนุนให้อยู่ต่อก่อนที่การลงประชามติเพื่อชี้ชัดว่าอังกฤษจะเลือกออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.นี้

ผู้กำหนดนโยบายที่มีอิทธิพลชี้นำเศรษฐกิจโลกที่รวมถึง เฟด IMF OECD WTO ต่างออกโรงเตือนถึงความเสี่ยง Brexit ต่อเศรษฐกิจของอังกฤษเอง รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่า Brexit จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตือนว่า หากอังกฤษถอนตัวออกจาก EU จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงขึ้น และปัญหาการอพยพเข้าเมืองของคนต่างถิ่นซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่นั้น จะไม่สามารถแก้ไขได้หากอังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU

กรณีผลการลงประชามติ ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เลือก Brexit นักลงทุนไม่ควรกังวลมากเกินไป เนื่องจากยังมีอีกหลายแนวทางในการลดผลกระทบ เช่น อังกฤษยังคงเป็นสมาชิก EU ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เช่น 2 ปี เพื่อเตรียมการถอนตัว เวลาที่ถอดยาวออกไป นอกจากจะเปิดโอกาสให้มีเวลาปรับตัวมากขึ้นแล้ว ยังเปิดช่องทางไปสู่การเจรจาเพื่อลดทอนผลกระทบต่างๆ เป็นต้น

GDP ของอังกฤษมีขนาดราว 4% ของ GDP โลก และอังกฤษไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตหรือผู้บริโภคสินค้าสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือโภคภัณฑ์ นอกจากนั้น อังกฤษยังไม่ใช่ผู้ลงทุนหรือผู้ปล่อยกู้/ผู้กู้รายสำคัญของระบบการเงินโลก ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกจึงมีจำกัด

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามผลข้างเคียงที่สร้างความไม่แน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะของอียู เช่น ตลาดอาจสงสัยว่า อาจมีประเทศถัดๆ ไปพยายามถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอียู เป็นต้น

นอกจากนั้น นักลงทุนส่วนหนึ่ง มีความทรงจำเลวร้ายจากผลกระทบกรณีกรีซที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ถึง 0.5% ของ GDP โลก แต่เคยสั่นคลอนระบบเศรษฐกิจและการเงินของอียูอย่างหนักเมื่อหลายปีก่อน ความวิตกกังวลต่อผลกระทบจาก Brexit อาจนำไปสู่การปรับพอร์ตพร้อมๆ กัน เพื่อลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เป็นต้น

ก่อนลงประชามติ Brexit ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่เลือกเล่นบทชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอียู เพื่อกระตุ้นให้ชาวอังกฤษเลือกอยู่ต่อ

อย่างไรก็ดี หากคนอังกฤษส่วนใหญ่เลือกถอนตัว และนำไปสู่ความปั่นป่วนในระบบการเงินและเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกมีแนวโน้มสูงที่จะหันมาหยอดคำหวาน พูดสร้างความเชื่อมั่นธนาคารกลางสำคัญอาจถึงขั้นอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติม เพื่อลดความผันผวนระยะสั้น กรณีที่ตลาดการเงินตอบสนองประเด็น Brexit รุนแรงเกินเหตุ ขณะที่เฟดอาจเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดให้ยาวนานออกไปอีก เป็นต้น

ระยะสั้น ความเสี่ยงจาก Brexit ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง และหันไปหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตร ทองคำ เงินเยน เป็นต้น

ตลาดหุ้นยุโรปร่วง 2.4% ในวันศุกร์ นำลงโดยหุ้นกลุ่มพลังงานที่ถูกฉุดจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงหลุด 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ราคาพันธบัตรที่ถีบตัวสูงขึ้น ดึงบอนด์ยีลของอังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่นแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บอนด์ยีลของประเทศที่เหลือลงสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายเดือน

ความเสี่ยงจาก Brexit ยังเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้ตลาดมั่นใจว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ แต่ตลาดยังคงจับตาผลการประชุมเฟดรอบนี้ที่จะมีการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟด (dot plot) ชุดใหม่

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอการลงทุนก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งในสัปดาห์นี้ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงรอผลการลงประชามติ Brexit ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้

บอนด์ยีลทั่วโลกที่ลดลงมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังฉุดบอนด์ยีลบ้านเรา ทำให้มีความน่าสนใจลงมามากขึ้นในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ REITs ที่เด่นๆ ได้แก่ BTSGIF DIF JASIF CPNRF เป็นต้น

ประเด็น Brexit มีผลจำกัดต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินไทย สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกยังคงสูงมาก จากการใช้มาตรการ QE และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

หากความผันผวนจาก Brexit ฉุดราคาหุ้นพื้นฐานดีต่ำผิดปกติ มองเป็นโอกาสซื้อ ความคืบหน้าในการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่กำลังซื้อมีแนวโน้มดีขึ้น หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์, ราคาสินค้าเกษตรปรับดีขึ้นมาก และปัญหาภัยแล้งที่บรรเทาลง