posttoday

Sell in May and go away

12 พฤษภาคม 2559

โดย กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูลอาวุโส บริษัทมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) [email protected]

โดย กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ  นักวิเคราะห์ข้อมูลอาวุโส  บริษัทมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) [email protected]


สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้กลับมาน่าสนใจอีกครั้งหลังจากที่ปิดช่วงไตรมาสแรกไปอย่างสวยงามด้วยผลตอบแทนกว่า ซึ่งนับเป็นตลาดหุ้นที่เติบโตเป็นอันดับต้นๆของโลกในปีนี้ แต่แล้วพอเริ่มเข้าช่วงเดือนเมษายนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ความผันผวนและไม่แน่นนอนก็เริ่มกลับมายังตลาดหุ้นไทยอีกครั้งประกอบกับตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของไตรมาสแรกประจำปีเริ่มทยอยออกมาให้ทราบกัน

จึงเริ่มมีคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตทางการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2559 ว่า นักลงทุนควรจะทำอย่างไรต่อผลกำไรที่ส่วนใหญ่ได้มาในช่วงไตรมาสแรกที่ตลาดหุ้นบวกกว่า 9.3% นั้นจึงเป็นที่มาของการอ้างอิงทฤษฎีทางการลงทุนที่ผมตั้งเป็นชื่อเรื่องของวันนี้ “Sell in May and go away”

จะว่าไปแล้วทฤษฎีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีทางการลงทุนที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายอยู่พอสมควร ซึ่งหลักการนั้นไม่ได้มีอะไรมากนอกเสียจากแนะนำให้ผู้ลงทุนขายหุ้นในเดือนพฤษาคม แล้วกลับมาซื้อใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นผลมาจากการศึกษาผลตอบแทนในอดีต (historical performance) เริ่มต้นที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐโดยผลการศึกษาเริ่มจากปี 1926-2006 แล้วหลังจากนั้นก็มีการขยายผลไปยังตลาดหุ้นอื่นๆ

โดยผลการศึกษานั้นบ่งบอกว่า ตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษาคม-ตุลาคมนั้นมักจะปรับตัวลงหรือเติบโตน้อยกว่า (underperformed โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.88%) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายนซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8% นั้นจึงเป็นที่มาของทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งผมเชื่อว่าในช่วงนี้นักลงทุนหลายท่านคงเริ่มได้ยินเหล่าบรรดากูรูทั้งหลายออกมาพูดในทำนองนี้ไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน


วันนี้ผมเลยลองทำการศึกษาในเบื้องต้นของทฤษฎี “Sell in May and go away” สำหรับทั้งดัชนีตลาดหุ้นไทย SET Index และกองทุนรวมหุ้นไทย (ไม่รวมนับ LTF และ RMF) โดยทำการศึกษาย้อนหลังแบ่งเป็นหลายช่วงเวลา 10- 20-, 30ปี และนับตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ปี 2518 เป็นต้นมา  ซึ่งได้ผลตามตารางประกอบ

จะว่าไปแล้วผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาจากดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับทฤษฎีที่ว่านี้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า มันเป็นเพียงทฤษฎีซึ่งไม่ได้หมายความว่าในทุกปีๆนั้นผลตอบแทนจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ดังประโยคคลาสสิคของการลงทุนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกกล่าวไว้ว่า “ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้บ่งบอกถึงผลตอบแทนในอนาคต (Past performance is no guarantee of future results)”

ทีนี้ย้อนกลับมาดูที่กองทุนรวมหุ้นไทย (ไม่รวมนับ LTF และ RMF) กันบ้าง ผลการศึกษานั้นก็ไม่ได้หนีไปจากตัวของตลาดหุ้นไทยเท่าไร่นักเนื่องจากกองทุนมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยมีผลดังนี้ (ทำการศึกษาย้อนหลังได้เพียง 19 ปีเนื่องจากข้อจำกัดของอายุของกองทุนรวม)

แล้วนักลงทุนอย่างเราควรทำอย่างไร ก่อนอื่นต้องบอกว่าทฤษฎีที่กล่าวมานี้เป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนแบบจับจังหวะหรือ market-timing นั้นเองซึ่งส่วนตัวผมนั้นมีความเชื่อว่ามันเป็น losing strategy หมายความว่าเรามักจะจับจังหวะในการลงทุนผิดอยู่เสมอ หรือบางทีวิธีการดังกล่าวนั้นอาจจะเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญที่เข้าใจการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเป็นอย่างดีหรือเป็นนักลงทุนแบบ Trader มืออาชีพมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อเข้าขายออกอยู่บ่อยๆนั้นก็ก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมาอยู่ดีนั้นก็คือ ค่าใช้จ่ายในการเทรด หรือ trading commission ที่ก็จะสูงตามขึ้นมานั้นเอง
สำหรับท่านที่เป็นนักลงทุนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นสำคัญ ผมยังเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวให้เป็นไปตามเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้นั้นยังคงเป็นวิธีการที่จะทำให้ท่านประสบความเร็จในการลงทุนได้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญไปกว่านั้นกองทุนรวมนั้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการลงทุนระยะสั้น