posttoday

ของขวัญที่มีค่า ให้พ่อแม่วันสงกรานต์

15 เมษายน 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP


วันสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ยิ่งปีนี้ทางรัฐบาลก็ยิ่งสนับสนุนให้พวกเราได้ให้พวกเราได้สนุกสนานกันอย่างเต็มที่ โดยการให้เงินที่จ่ายไปสำหรับการกินเที่ยวในช่วงวันที่ 9-17 เม.ย.นี้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท แต่ถึงแม้รัฐบาลจะใจดีขนาดนี้ ก็อย่าอยากได้ภาษีมากจนกินเที่ยวไม่ดูกำลังทรัพย์ของตัวเองนะครับ คนไหนที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอและตั้งใจพาครอบครัวไปกินเที่ยวอยู่แล้ว ก็ใช้โปรโมชั่นของรัฐบาลให้คุ้ม ส่วนคนไหนที่กำลังทรัพย์ยังตึงๆ อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปกินไปเที่ยวเพราะเสียดายภาษีที่รัฐบาลให้หรอกครับ เพราะอยากประหยัดภาษีมีอีกหลายวิธีครับ

อย่างวันสงกรานต์นอกจากจะหมายถึงวันปีใหม่แล้ว วันที่ 13 เม.ย. ยังเป็นวันผู้สูงอายุ และวันที่ 14 เม.ย.ยังเป็นวันครอบครัว เพื่อที่คนไทยจะได้ระลึกถึงพระคุณของบุพการี ญาติผู้ใหญ่ ระลึกถึงความสำคัญของครอบครัวได้กลับไปรวมญาติ รวมครอบครัว และทุกครั้งที่เรากลับไปเยี่ยมเยียนคุณพ่อคุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ เราก็มักจะมีของขวัญติดไม้ติดมือไปให้ท่าน จะดีกว่าไหมหากของขวัญที่เรามอบให้ท่านเป็นของขวัญที่ท่านอยากได้ ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ

หากถามคนสูงอายุว่าอยากได้อะไรมากที่สุด ผมว่าการมีสุขภาพที่ดีคือสิ่งที่คนสูงอายุทุกคนอยากได้ ศาสนาพุทธเองก็ยังบอก “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แต่การมีสุขภาพดีไม่ได้มีกันทุกคน เพราะจะมีสุขภาพที่ดีได้มันต้องสะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ดี การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การมีจิตใจที่ร่าเริงผ่องใส อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี พักผ่อนเพียงพอ ซึ่งในภาวะปัจจุบันคนไทยที่ทำได้ครบถือว่าสุดยอดจริงๆ แต่เมื่อสุขภาพดีทำได้ยาก สิ่งที่ผู้สูงอายุอยากได้ก็คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลที่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในยามที่ต้องไปหาหมอ

ตรงนี้แหละครับ ของขวัญที่เราเอาไปลดภาษีได้แถมพ่อแม่ก็ได้ประโยชน์ คือ ประกันสุขภาพพ่อแม่ครับ

ประกันสุขภาพพ่อแม่นี้ กรมสรรพากรสนับสนุนโดยให้บุตรสามารถนำเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ทำให้แก่บิดามารดาของตัวเอง หรือบิดามารดาของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท  โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.บิดามารดาที่เอาประกันต้องมีเงินได้พึงประเมินได้ไม่เกิน  3 หมื่นบาทในปีนั้น พ่อแม่จะอายุเท่าไหร่ก็ได้
2.ผู้มีเงินได้ที่หักลดหย่อนต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา (บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิยกเว้นฯ)
3.หากบุตรหลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดาหรือมารดา  ให้บุตรทุกคนได้รับการหักลดหย่อนโดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่บุตรร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกิน  1.5 หมื่นบาท  ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ ตัวอย่างเช่น นาย  ก. และนาง ข. สามีภริยา ต่างคนต่างมีเงินได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ในปีนั้น นาย ก. และ นาง ข. มีบุตร 2 คน คือ นายเอ และนางบี

หากนายเอและนางบีตกลงกันจะซื้อประกันสุขภาพให้นาย ก. และนาง ข. โดยแบ่งกันออก คือ นายเอ ออก 2 ใน 3 นางบี ออก 1 ใน 3 นายเอและนางบีจะจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อลดหย่อนภาษีให้นาย ก. ได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท นางบีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท โดยนายเอจะนำเบี้ยที่จ่าย 1 หมื่นบาท สำหรับประกันสุขภาพนาย ก. และ 1 หมื่นบาท สำหรับประกันสุขภาพนาง ข. ไปลดหย่อนภาษีได้  ส่วนนางบีก็จะนำเบี้ยที่จ่าย 5,000 บาทสำหรับประกันสุขภาพนาย ก. และ 5,000 บาท สำหรับประกันสุขภาพนาง ข. ไปลดหย่อนภาษีได้

4.กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว  ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้  ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน  1.5 หมื่นบาท
5.การประกันสุขภาพดังกล่าว จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ  การชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ  เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ  รวมถึงการประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล  การทุพพลภาพ  การสูญเสียอวัยวะ  และการแตกหักของกระดูก  การประกันภัยโรคร้ายแรง และการประกันภัยการดูแลระยะยาวด้วย

จะเห็นนะครับว่าไม่ต้องไปหาเรื่องกินเที่ยว แค่ซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ เราก็สามารถลดหย่อนภาษี 1.5 หมื่นบาทได้เหมือนกัน แถมพ่อแม่ก็ยังได้รับการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ Page ใน Facebook ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...