posttoday

การบริหารเงินหลักประกัน

08 เมษายน 2559

โดย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

โดย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

การลงทุนในตราสารอนุพันธ์มีข้อได้เปรียบกว่าการลงทุนในหุ้น คือ มีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเต็มจำนวน แต่จะต้องวางเงินหลักประกัน (Margin) ไว้กับโบรกเกอร์แทน ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันดัชนี SET50 อยู่ที่ประมาณ 900 จุด และผู้ลงทุนวางแผนจะลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจากหุ้นด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 180,000 บาท โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่านเครื่องมือลงทุนที่แตกต่างกันได้

• หากผู้ลงทุนใช้กองทุนรวม SET50 เป็นเครื่องมือในการลงทุน ผู้ลงทุนก็จะต้องใช้ต้นทุน 180,000 บาท ในการซื้อกองทุนรวมโดยตรง ในกรณีที่ดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้นมาที่ 945 จุด ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่ ประมาณ 9,000 บาท (45/900 x 180,000) หรือคิดเป็น 5% ของต้นทุนที่ใช้ในการลงทุน (9,000 / 180,000 x 100%)

• ในกรณีที่ผู้ลงทุนเลือกใช้สัญญา SET50 Futures เป็นเครื่องมือลงทุน ก็สามารถทำได้โดยซื้อสัญญา SET50 Futures จำนวน 1 สัญญา ซึ่งจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับประมาณ 180,000 บาท (900 จุด x 200 บาท) แต่จะใช้ต้นทุนขั้นต่ำเพียง 10,260 บาทต่อสัญญา (มูลค่าเงินวางหลักประกันที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2559) ในกรณีที่ดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้นมาที่ 945 จุด ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนจากการปรับตัวขึ้นของดัชนีที่ 9,000 บาทต่อสัญญา (45 จุด x 200 บาท) หรือคิดเป็นประมาณ 88% ของต้นทุนที่ใช้ในการลงทุน (9,000 / 10,260 x 100%)

จะเห็นได้ว่าการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะสามารถสร้างผลกำไรเมื่อเทียบกับเงินลงทุนในอัตราที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม เนื่องจากใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วยการวางเงินหลักประกันแทนการซื้อสินทรัพย์ด้วยเงินทุนเต็มมูลค่า แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องเข้าใจและบริหารเงินวางหลักประกันได้อย่างถูกต้อง โดยหลักประกันสองประเภทหลักที่ผู้ลงทุนควรให้ความสนใจก่อนซื้อขาย ได้แก่

• หลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) เป็นเงินหลักประกันขั้นต้นที่ผู้ลงทุนจะต้องวางไว้กับโบรกเกอร์ก่อนการซื้อขาย เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ

• หลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) หลังจากซื้อขายแล้ว โบรกเกอร์จะคำนวณกำไรขาดทุนให้ผู้ลงทุนทุกวันทำการ (Mark to Market) ทำให้มูลค่าเงินวางหลักประกันในบัญชีของผู้ลงทุนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามราคา Futures ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ระดับ Maintenance Margin คือมูลค่าเงินหลักประกันขั้นต่ำที่ผู้ลงทุนจะต้องรักษาไว้กับโบรกเกอร์ตลอดระยะเวลาที่ผู้ลงทุนมีสถานะถือครองอยู่

ทั้งนี้ หากมูลค่าเงินหลักประกันของผู้ลงทุนลดลงมาต่ำกว่าระดับ Maintenance Margin เมื่อใด โบรกเกอร์จะทำการ Call Margin หรือเรียกให้ผู้ลงทุนวางหลักประกันเพิ่มเติมให้กลับมาอยู่ที่ระดับ Initial Margin อีกครั้งหนึ่งภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งหากผู้ลงทุนไม่เพิ่มเงินวางหลักประกันให้กลับมาที่ระดับดังกล่าว โบรกเกอร์จะทำการบังคับปิดสถานะ (Force Close) ของผู้ลงทุน เพื่อปิดความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระขึ้น ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วการบริหารเงินวางหลักประกัน ผู้ลงทุนจึงควรเตรียมเงินวางหลักประกันไว้ให้สูงกว่า Initial Margin ตามสมควร เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นจาก Margin Call ในช่วงที่ราคาผันผวนไปได้

นอกจากเงินหลักประกันที่กล่าวมาข้างต้นทั้งสองประเภทแล้ว ยังมีเงินวางหลักประกันอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน ได้แก่ หลักประกันเกินปกติ (Super Margin หรือ Long Holiday Margin) เป็นเงินหลักประกันที่อาจจะเรียกเก็บสำหรับช่วงวันหยุดต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน เพื่อป้องกันความผันผวนของราคา Futures (เช่น Gold Futures, Oil Futures, USD Futures) ที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายนอกในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าตลาดเงินตลาดทุนในประเทศจะหยุดทำการก็ตาม โดยผู้ลงทุนที่ถือครองสถานะผ่านช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่จะถึงนี้ จะต้องวางเงินหลักประกัน Super Margin เพิ่มเป็นกรณีพิเศษ สำหรับสถานะที่ถือในช่วงตั้งแต่ภาคค่ำวันที่ 11 เมษายน ถึงช่วงกลางวันของวันที่ 12 เมษายน 2559  โดยหลักประกันจะกลับมาสู่ระดับปกติอีกครั้งในช่วงภาคค่ำของวันที่ 12 เมษายนเป็นต้นไป สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการ หรือ เว็บไซต์ www.tfex.co.th