posttoday

จาก FinTech สู่ Crowdfunding

16 มีนาคม 2559

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย ปริย  เตชะมวลไววิทย์  ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 การนำเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน (financial technology หรือ FinTech) เพื่อเพิ่มสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

ก.ล.ต. ในฐานะที่กำกับดูแลตลาดทุนก็ได้เตรียมการเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยการดำเนินการที่สำคัญประการหนึ่งคือ การออกเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการระดมทุนผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มที่เรียกว่า equity crowdfunding  ไว้พร้อมแล้ว

การระดมทุนแบบ equity crowdfunding นี้ เข้ามาช่วยตอบโจทย์การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) หรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น (startup) เนื่องจากสามารถระดมทุนได้เร็วด้วยต้นทุนที่ไม่สูง  และมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยผู้ระดมทุนจะเสนอหุ้นของบริษัทเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน ผ่านตัวกลางเว็บไซต์บนระบบอินเทอร์เน็ต (internet-based) เพื่อระดมทุนจากมวลชน (crowd) คนละจำนวนไม่มากนักครับ

ฟังดูน่าสนใจใช่ไหมครับ ต้องขอเรียนว่า equity crowdfunding   นี้ เป็น FinTech ที่สร้างโอกาสให้กับหลายกลุ่มเลยทีเดียว

แน่นอนครับว่า กลุ่มแรกที่ได้รับโอกาสคือ บริษัทที่ต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็น SMEs เป็น startup โอกาสในการระดมทุนมาแล้วนะครับ เงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด

ที่ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ และจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีแผนในการดำเนินธุรกิจหรือโครงการสำหรับการระดมทุนชัดเจน โดยให้หุ้นเป็นสิ่งตอบแทนแก่ผู้ลงทุน ก็จะอยู่ในข่ายที่สามารถระดมทุนได้  นอกจากจะได้เงินทุนจากการระดมทุนแล้ว  equity crowdfunding ก็อาจจะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง โดยทั้งลูกค้าและคู่ค้าก็จะรู้จักสินค้าเรามากขึ้น

กลุ่มที่สอง  equity crowdfunding ช่วยสร้างให้เกิดธุรกิจ funding portal หรือผู้ให้บริการเว็บไซต์ตัวกลาง ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่คัดสรรบริษัทที่ต้องการระดมทุนมานำเสนอข้อมูลโครงการของบริษัท เพื่อให้ผู้ลงทุนได้เลือกลงทุนกันตามความเหมาะสม

กลุ่มที่สาม ผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของเงินครับ ในสภาวะปัจจุบันที่ ผลตอบแทนจากการฝากเงินลดต่ำลงมาก ผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น อาจยอมลงทุนในสินค้าทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง  equity crowdfunding จึงเป็น new asset class สำหรับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ในการลงทุน มีความรู้ ความเข้าใจในความเสี่ยงในการลงทุนเป็นอย่างดี หรือมีความสนใจร่วมลงทุนในกิจการที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น กลุ่ม venture capital  ผู้ลงทุนสถาบัน เป็นต้น ซึ่งหากเป็นผู้ลงทุนกลุ่มนี้ กลุ่มจะสามารถลงทุนใน equity crowdfunding ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดวงเงินการลงทุน

สำหรับผู้ลงทุนรายบุคคล (รายย่อย)  ที่ยังไม่มีความคุ้นเคยกับการลงทุนใน equity crowdfunding 

ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีรูปแบบความเสี่ยงแตกต่างจากการลงทุนในหุ้น IPO ที่มีผู้ช่วยคัดกรองหลายชั้น  ดังนั้น ก่อนการลงทุน ก็ต้องทำแบบทดสอบความรู้ด้านการลงทุนกันก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า

มีความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนใน equity crowdfunding ได้ และยังถูกจำกัดวงเงิน

ในการลงทุนไว้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบริษัท และลงทุนรวมได้ไม่เกิน 500,000 บาท ต่อปี เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดกับผู้ลงทุน หากกิจการที่ไปลงทุนไม่ประสบความสำเร็จครับ 

เนื่องจากการระดมทุนแบบ equity crowdfunding จะมีระยะเวลาจองซื้อค่อนข้างนาน 30-90 วันทีเดียว  เมื่อบริษัทระดมทุนได้สำเร็จตามเป้าหมาย ผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อ จะโอนเงินให้กับบริษัท แต่ถ้าระดมทุนไม่สำเร็จ ก็จะโอนเงินคืนให้กับผู้ลงทุนที่จองซื้อ  ดังนั้น ผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อจึงมีบทบาทที่ช่วยให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเงินค่าจองซื้อ ถูกเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยในระหว่างช่วงเวลาการจองซื้อหุ้น

คงจะพอเห็นภาพแล้วนะครับ ว่า equity crowdfunding สร้างโอกาสอย่างไรบ้าง หากท่านสนใจ

จะมีส่วนร่วมในโอกาสดี ๆ แบบนี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ก.ล.ต. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1207 หรืออีเมล์ [email protected]

ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวของ equity crowdfunding  ที่น่าสนใจ ซึ่งผมจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อ ๆ ไปครับ

ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ