posttoday

ใช้เงินหมดก่อนตายคือ ความเสี่ยงที่แท้จริง

15 มีนาคม 2559

โดย กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ([email protected])

โดย กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ([email protected]) 

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ผมมีโอกาสได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้บรรยายในสัมมนาของทางสำนักงาน กลต ในหัวข้อเรื่อง การออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งประกอบไปด้วยงานวิจัยดีๆ จากทาง ศ.ดร. อัญญา ขันธวิทย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในวันนั้นหนึ่งในประเด็นที่ผมนำเสนอนั้นเกี่ยวกับเรื่อง ความสำคัญของการซื้อหรือมีประกันบำนาญ หรือ Annuity product ไว้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณนั้นเอง

นักลงทุนหลายๆท่านคงยังไม่คุ้นเคยกันมากหนักเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชนิดดังกล่าว หรือบางท่านที่ทราบก็อาจจะยังไม่ค่อยเห็นถึงประโยชน์ของมันมากเช่นกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับความเห็นของนักวางแผนการเงินส่วนใหญ่ (อย่างน้อยก็ในต่างประเทศ) ที่เห็นว่าประกันบำนาญนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยู่ในวัยเกษียณเนื่องจากเป็นแหล่งรายได้หลังเกษียณที่แน่นนอน (guaranteed income) และสามารถป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการที่มีชีวิตอยู่ยาวนานเกินไปกว่าเงินที่ท่านเตรียมไว้ใช้ในยามเกษียณ เรียกง่ายๆใช้เงินหมดก่อนตายนั่นเองหรือ “Longevity risk” ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัวที่สุดที่เราๆท่านๆอาจจะยังไมรู้สึกในตอนนี้

ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับลักษณะและวัตถุประสงค์ของตัวประกันบำนาญนั้นอยู่ดี ซึ่งก่อนอื่นผมอยากจะเริ่มต้นโดยการทำความเข้าใจที่นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า ประกันบำนาญนั้นคือการลงทุน ซึ่งมันไม่ใช่ แท้จริงแล้วมันคือ รูปแบบหนึ่งของประกัน (Insurance Product) ที่เน้นเรื่องการป้องการความเสี่ยงเป็นหลัก มากกว่าเน้นเรื่องของผลตอบแทนสูงสุดหรือการสร้างความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุน ซึ่งเราควรจะมองมันเป็นเสมือนเครื่องมือในการจัดการเรื่องความเสี่ยง แล้วค่อยไปมองเรื่องของผลตอบแทนในการซื้อประกันบำนาญนั้นเป็นประเด็นรอง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การซื้อประกันบำนาญไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยนั้นน่าจะเป็นผลมาจาก 1. ความไม่เข้าใจถึงประโยชน์และวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง 2. คนส่วนใหญ่มักมองว่าการซื้อประกันบำนาญนั้น “แพง” หรือใช้เงินเยอะ 3. ความรู้สึกเป็นเจ้าเงิน (ไม่ให้เงินแก่ผู้อื่นไปบริหาร) ที่มีอยู่มากในคนเอเชีย 4. วิธีการขายที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นประกันชีวิตชนิดหนึ่ง 5. สภาพคล่องที่ต่ำและการขาดความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ดังนั้นแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรพิจารณาซื้อประกันบำนาญหรือไม่ เบื้องต้นที่ผมอยากแนะนำก็คือ

1.ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงและต้องการหาแหล่งรายได้หลังเกษียณที่แน่นนอน

2.ถ้าคุณเป็นคนที่มีแหล่งหลายได้ที่แน่นนอนหลังเกษียณต่ำ หรือหวังพึ่งรายได้หลังเกษียณจากผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนเพียงอย่างเดียว (ซึ่งไม่มีความแน่นนอนเลย)

3.หากคุณเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีรวมถึงคนในครอบครัวมีประวัติอายุยืน

ส่วนลักษณะของประกันบำนาญในบ้านเรานี้เท่าที่ผมเห็นส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Fixed Annuity นั้นก็คือ มีการจ่ายเงินบำนาญเป็นงวดๆในอัตราและระยะเวลาที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ซึ่งในต่างประเทศนั้นจะมีอีกแบบหนึ่งนั้นก็คือ Variable Annuity ซึ่งเงินบำนาญนั้นจะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของเงินที่เราเอาไปลงทุนและซึ่งจะมีบางส่วนที่ไปลงทุนในสินทรัพย์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนแบบคงที่เช่นกัน

ทั้งนี้หลักการในการเลือกนั้นไม่ได้มีอะไรยากเพียงแค่เราต้องเข้าใจตัวรูปแบบของประกันบำนาญนั้นอย่างแท้จริง ระยะเวลาในการส่งเงิน เงินบำนาญที่จะได้รับ ระยะเวลาในการรับเงินบำนาญ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จากนั้นก็นำมาเปรียบเทียบกันหลายๆแผนแล้วเลือกอันที่เหมาะกับเรามากที่สุด

อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ความไม่ตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง เนื่องจากลักษณะการอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ของคนในฝั่งเอเชียเราที่ยังคงมีแนวคิดที่ว่าเมื่อพอเราแก่ตัวลงไปก็ยังคงหวังพึ่งให้ลูกหลานคอยดูแลเราตลอดไปนั่นเอง ซึ่งตรงจุดนี้หลายๆบทวิจัยก็เริ่มมีความเห็นต่างและเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าในอนาคตรูปแบบของการดำเนินชีวิตและสังคมจะเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น ครอบครัวจะเล็กลงและผู้สูงอายุจะต้องอยู่ตามลำพังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเตรียมตัวสำหรับวัยเกษียณนั้นจะเป็นเรื่องที่ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ