posttoday

เทศกาลการยื่นภาษีมาถึงแล้ว

04 มีนาคม 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

เมื่อถึงเวลาต้องเสียภาษีทีไร ผมมักจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเสมอคือ “เสียดายตังค์ ไม่อยากเสียภาษีเลย” และทุกครั้งที่รู้สึก “เสียดาย” ก็จะรู้สึก “เสียใจ” ว่าที่ผ่านมาทำไมไม่วางแผนภาษีให้ดี อาการเหมือนตอนเราเจ็บป่วยไปหาหมอ ก็มักจะเสียดายค่ารักษาพยาบาล และเสียใจว่าทำไมที่ผ่านมาไม่บำรุงรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ยอมออกกำลังกาย กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ

และตอนที่เราเจ็บป่วย สิ่งที่เราคิดขึ้นทันทีเลย คือ อะไร สำหรับคนที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพเอาไว้ ก็คงคิดว่า “คงไม่เป็นอะไรมากหรอกน่ะ ช่างมัน มันเป็นเอง ก็ต้องหายเอง” คิดแล้ว ก็ทนเจ็บ ทนปวด ไม่ไปหาหมอ กว่าจะตัดสินใจไปหาหมอ ก็เป็นหนักแล้ว เช่นเดียวกับตอนที่ต้องเสียภาษี (ช่วงมกราคม – มีนาคม นี้แหละ) หลายคนคิดแบบเดียวกันว่า “ช่างมัน เสียภาษีทำไม ถ้าไม่บอกกรมสรรพากรก็ไม่รู้” หากคิดอย่างนี้จริงๆ ก็ขอบอกว่า “คิดผิด คิดใหม่ได้” เพราะหากคุณเป็นผู้มีเงินได้ คุณก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี

แต่ก็มีหลายกรณีเหมือนกันที่เราอาจผิดพลาดโดยสุจริต คือ ไม่รู้ว่าต้องเสียภาษี ดังนั้น คำถามที่ตอบกันก็คือ ใครคือคนที่ต้องเสียภาษี และเงินได้แบบไหนต้องเสียภาษี
ใครคือคนที่ต้องเสียภาษี

กรมสรรพากร ระบุว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1)   บุคคลธรรมดา
2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
 4)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

เฮ้อ! ขนาดตายแล้วยังต้องเสียภาษีเลย อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1. ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเงินเดือน ค่าจ้างที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)
     - กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 50,000 บาท
     - กรณีที่มีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 100,000 บาท

2. ผู้มีเงินได้จากการทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่มิใช่เกิดจากการจ้างแรงงานที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)
     - กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท
     - กรณีมีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 60,000 บาท

3. กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 30,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 30,000 บาท

หากคุณเข้าเกณฑ์ดังกล่าว คุณก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี

แล้วเงินได้แบบไหนต้องเสียภาษี

ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่

1. เงิน
2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง
3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

เห็นรึปล่าว ครอบคลุมมากแค่ไหน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะมีเงินได้หรือผลประโยชน์อะไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทคิดไว้ก่อนเลยว่า ต้องเสียภาษีแน่ๆ แต่ก็มีเงินได้บางประเภทเหมือนกันที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งเราสามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ กรมสรรพากร (www.rd.go.th)
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทำอย่างไรกันดี ถึงจะเสียภาษีน้อยลง ก็มีอยู่ 3 วิธี คือ การวางแผนภาษี (Tax Planning) การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) และ การหนีภาษี (Tax Evasion) ไว้เรามาคุยกันครั้งหน้าครับ