posttoday

3 แนวคิดการลงทุนเพื่อคุ้มครองเงินต้น

23 กุมภาพันธ์ 2559

โดย...ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย...ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

นักลงทุนทุกคนอยากจะรักษาเงินต้นของตนไว้เป็นเป้าหมายแรก และหากทำได้ก็จะหาผลตอบแทนให้มากที่สุด เพื่อให้เงินต้นงอกเงยมากขึ้นเป็นเป้าหมายต่อไป

การลงทุนแบบที่จะรักษาเงินต้นไว้มีอย่างน้อย 3 แนวคิดในปัจจุบัน และทั้ง 3 แนวคิดก็เป็นหลักที่นักลงทุนปัจจุบันประยุกต์ใช้กันอยู่
แนวคิดแรก คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการประกันเงินต้น เช่น เงินฝากธนาคาร ก็ประกันโดยธนาคารว่าจะคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย หรือพันธบัตรรัฐบาล ที่ประกันโดยรัฐบาลในลักษณะเดียวกัน ตราสารหนี้ต่าง ๆ ที่ออกโดยเอกชนผู้ออกหลักทรัพย์ เป็นต้น การลงทุนตามแนวคิดนี้ มีการประกันเงินต้นก็จริง แต่ก็มีความเสี่ยงตามความแข็งแกร่งทางการเงินของสถาบันที่ออกหลักทรัพย์ ถ้าสถาบันดังกล่าวเป็นรัฐบาล ความเสี่ยงก็คือ ความแข็งแกร่งของรัฐ ถ้าสถาบันดังกล่าวเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน หรือบริษัทเอกชน ความเสี่ยง คือ สถานะความแข็งแกร่งทางการเงินของสถาบันดังกล่าว

แนวคิดแรกนี้ ใช้กันแพร่หลายมากในกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้านการบริหารเงิน และสถาบันภาครัฐ หรือเอกชนที่อนุรักษ์มากๆ เช่น มหาวิทยาลัยของ รัฐ/เอกชน สหกรณ์ วัด และมูลนิธิ เป็นต้น  โดยกำหนดเป็นเกณฑ์การลงทุนเลยว่า ห้ามลงทุนในหลักทรัพย์อื่นใด นอกจาก หลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ ที่ความเสี่ยงต่ำ ชาวบ้านทั่วไปที่ฝากเงินธนาคาร เป็นหลักก็ลงทุนตามแนวคิดนี้

แนวคิดที่สอง คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่จะเสียเงินต้นได้ในจำนวนจำกัด นอกนั้น ส่วนใหญ่ลงในหลักทรัพย์ที่คุ้มครอง หรือประกันเงินต้น และดอกเบี้ย

แนวคิดที่สองนี้ ถือหลักว่า ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ได้จากหลักทรัพย์ที่คุ้มครองหรือประกันเงินต้น นำไปลงทุนที่เสี่ยง ๆ ได้ เพราะถึงเสียหายไปหมด เงินต้นก็ยังอยู่

ขออนุญาตขยายความสักเล็กน้อย สมมติมีเงินลงทุน 100 บาท และเรารู้ว่าถ้าเอาเงิน 97 บาท ไปฝากธนาคารตอนต้นปี แล้วปลายปี จะได้ดอกเบี้ย 3 บาท เราก็สามารถแบ่งเงิน 100 บาท ของเราเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 97 บาท ฝากธนาคาร ส่วนที่สอง 3 บาท ไปลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์เสี่ยงอย่างอื่น พอร์ตโฟลิโอ 100 บาท นี้ ถือว่าได้รับการคุ้มครองเงินต้นโดยปริยาย เพราะถ้าการลงทุนในหุ้น 3 บาทเสียหายหมดณ สิ้นปีพอร์ตนี้จะได้ดอกเบี้ยจากธนาคาร 3 บาท กลับมาชดเชย การขาดทุนจากหุ้น 3 บาทได้ตัวพอร์ต ณ สิ้นปี ก็ยังคงเป็น 100 บาท เท่าตอนต้นปี

มีหลายกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคล ที่ใช้แนวคิดนี้ในการบริหารพอร์ตการลงทุนให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ หรือไม่ได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าในระยะยาว การบริหารพอร์ตแบบคุ้มครองเงินต้นลักษณะนี้ ย่อมให้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบแนวคิดแรก

แนวคิดที่สาม คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่จะเสียเงินต้นได้โดยไม่จำกัด

แนวคิดนี้เป็นการบริหารพอร์ตโฟลิโอแบบคุ้มครองเงินต้นที่ใช้การคำนวณความเสี่ยงและความเสียหายสูงสุดที่พอร์ตโฟลิโอการลงทุนอาจได้รับ โดยใช้การบริหารแบบ Active คือ ติดตามเฝ้าดูความเสี่ยงและความเสียหายสูงสุดที่พอร์ตอาจได้รับอยู่ตลอดเวลา และควบคุมไม่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบกินเงินต้น

ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้รับการประยุกต์ใช้ในสถาบันการเงินการลงทุนชั้นนำโดยทั่วไปที่มีศักยภาพในการใช้ความรู้ทางสถิติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ในการคำนวณความเสี่ยงและความเสียหายสูงสุดได้ ประชาชนทั่วไปถ้าจะใช้การลงทุนตามแนวคิดนี้ ก็อาจใช้วิธีจ้างสถาบันการเงินเหล่านี้บริหารให้

ช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจการลงทุนดูจะซึมเซา ผมจึงขอแบ่งปันแนวคิดการลงทุนแบบคุ้มครองเงินต้นมาเพื่อท่านนักลงทุนอาจนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้