posttoday

ตลาดทุนกับ FinTech

18 กุมภาพันธ์ 2559

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย ปริย  เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


การนำเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน (financial technology: “FinTech”) มีการเติบโตสูงมากในต่างประเทศ โดยข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาAccenture พบว่าเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีการเติบโตของการลงทุนในธุรกิจFinTechเป็นอย่างมากจาก 31,897 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 125,703 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในปี 2558 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนว่า FinTechจะเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกรรมภาคการเงินมากขึ้น

ในประเทศไทยเอง ก็เริ่มเห็นข่าวของ FinTechเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งหากดูจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว ตลาดทุนเป็นภาคการเงินที่มีศักยภาพและเปิดโอกาสให้กับ FinTechสูงมากเลยครับ

เหตุที่ผมกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะ FinTechทำให้เกิดผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการคิดค้นสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย และช่วยให้กลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วซึ่งตลาดทุนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อFinTechเป็นอย่างมากครับ

ตัวอย่างเช่น (1) การซื้อขายหลักทรัพย์หรือการทำรายการต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นแบบ ณ เวลาจริงหรือเรียลไทม์การส่งคำสั่งซื้อขายมีปริมาณมาก และทำอย่างรวดเร็ว และ (2) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้ลงทุน มีปริมาณมาก เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนหรือหลักทรัพย์

ลักษณะที่ว่านี้ทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้ามามีบทบาทได้มากครับ ทั้งการทำให้ต้นทุนการให้บริการถูกลง เนื่องจากไม่ต้องมีสถานที่ประกอบการและนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนคน  หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ นอกจากต้นทุนจะลดลงแล้ว เทคโนโลยียังทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วด้วย
ที่ผ่านมาเราเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุนแล้วบ้าง เช่น การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีผู้เปิดบัญชีแล้วเกือบหนึ่งล้านราย แต่ต่อๆ ไป เราจะเห็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและซับซ้อนขึ้น พลิกโฉมบริการแบบเดิม ๆ เลยครับ ตัวอย่างบริการที่เห็นแพร่หลายแล้วในต่างประเทศเช่น robo-advisorที่ใช้โปรแกรม
คอมพิวเตอร์จัดพอร์ตการลงทุนให้โดยอัตโนมัติ มีสองแบบ คือ แบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ 100% (fully automated) และแบบผสม(hybrid) ที่ยังใช้คนมาช่วยตรวจทานก่อนตัดสินใจลงทุนหรือปรับพอร์ตอีกทีครับ บริการนี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากผู้ให้บริการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำกว่าบริการที่ใช้คนเข้ามาวิเคราะห์ล้วน ๆ  อย่างบริการของ wealthfrontบริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นให้บริการ robo advisor เมื่อปี  2556  สามปีผ่านไป มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) สูงถึงสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

FinTech ยังช่วยในเรื่องของการปิดช่องว่างในการเข้าถึงทุนด้วยนะครับ อย่างเช่นการระดมทุนผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มที่เรียกว่า crowdfundingที่ ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์รองรับการระดมทุนแบบ equity crowdfundingไปแล้วและมีผู้แสดงความสนใจที่จะประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางการระดมทุน (Funding Portal) อยู่พอสมควร และน่าจะเริ่มให้บริการได้ในปีหน้านี้

ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุนได้ตระหนักถึงโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดจาก FinTechโดยได้ศึกษาเรื่องนี้ได้ดำเนินการและกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ มาระยะหนึ่งแล้วครับ โดยนอกจากเรื่อง equity crowdfundingแล้ว ก.ล.ต. ได้จัดงานเสวนาFinTechและโครงการอื่น ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ (สนใจดูรายละเอียดงานเสวนาได้ที่ www.sec.or.th/fintech) และตั้งโจทย์ด้านตลาดทุนให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น (FinTech startup)คิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ มาให้บริการแก่ผู้ลงทุน หรือในอนาคตก็จะได้เห็น ก.ล.ต. ออกเกณฑ์ใหม่มาเพื่อรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการใช้ FinTechเช่น robo advisor ครับ

นอกจากแผนงานต่าง ๆ ที่จะใช้ประโยชน์จาก FinTechแล้ว ในส่วนของผลกระทบ ก.ล.ต. ก็ได้ศึกษาอย่างรอบด้านครับ ไม่ว่าจะเป็นการที่ธุรกิจตัวกลางแบบเดิมจะถูกแทนที่ด้วย FinTechซึ่งผู้ประกอบธุรกิจก็จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันหรือล้ำสถานการณ์ หรืออย่างเรื่องภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและมีแนวโน้มสูงขึ้น หรือผู้ลงทุนเองก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยงของบริการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน

ประเด็นเหล่านี้ ก.ล.ต. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ไว้ และจะผลักดันและร่วมกันทำงานกับผู้ร่วมตลาดทุน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์และลดความเสี่ยงหรือผลกระทบต่าง ๆ จาก FinTechให้ได้มากที่สุดครับ

เรื่องของเทคโนโลยีเพื่อสินค้าและบริการในตลาดทุนนี้ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ ก.ล.ต. ที่มุ่งมั่นจะทำงานในเชิงรุก ร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืนและประโยชน์สุขต่อประชาชนครับ

ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ