posttoday

บรรษัทภิบาล แบบไทยๆ

15 มกราคม 2559

โดย ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดย ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ในสังคมไทยคนบางกลุ่มยังคงมีความเชื่อว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะรับระบอบประชาธิปไตยตามสไตล์ตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ หรือหนึ่งคนหนึ่งเสียง แต่ในเวลาเดียวกันคนพวกนี้ก็ไม่พร้อมที่จะรับระบบการปกครองแบบเกาหลีเหนือ หรือจีน ซึ่งเป็นระบบหนึ่งคนไม่มีเสียงเลย

เพราะฉะนั้นจึงมีการริเริ่มความคิดของ “ประชาธิปไตย สไตล์ไทยๆ” ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ประเทศไทยเปรียบเสมือนบริษัทที่มีหุ้นอยู่สองระดับ (Dual Class Shares) โดยให้อำนาจการลงคะแนนเสียงแบบพิเศษกับผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเท่านั้น หรือพูดได้อีกแบบ คือ จะมีกฎหมายหรือกฎระเบียบพิเศษสำหรับบางบุคคลเท่านั้น

เป็นที่น่าเสียดายที่ความคิดเช่นนี้และวัฒนธรรมสิทธิพิเศษสำหรับคนชั้นสูงได้เริ่มกระจายเข้าไปสู่คณะกรรมการบริหารของหลายบริษัทในประเทศไทยแล้ว ตัวอย่างที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ คือ เกี่ยวกับกลุ่มผู้บริหารของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีมูลค่าตามตลาดถึง 3.5 แสนล้านบาท เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจและได้รับการรายงานในสื่อต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับค่าปรับมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายโดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดังกล่าว สำหรับการซื้อขายหุ้นที่ผิดกฎหมาย (Insider Trading) โดยใช้ข้อมูลภายในก่อนที่จะแจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบ

ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ต่างยินดีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีความกล้าพอที่จะเปิดโปงการซื้อขายลักษณะเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ของกลุ่มบุคคลที่ได้รับทราบข้อมูลก่อนที่จะมีการเปิดเผยในตลาดทั่วไป

แต่สิ่งที่ผิดหวังมาก คือ การกระทำ หรือการไม่กระทำ ของคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระของบริษัท ที่ยังปล่อยให้กลุ่มผู้บริหารดังกล่าวยังสามารถอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิม โดยไม่มีการลงโทษใดๆ โดยจารีตประเพณีแล้วถ้าคุณถูกจับทำผิดแบบคาหนังคาเขา สิ่งที่มีเกียรติอย่างเดียว

ที่กลุ่มผู้บริหารดังกล่าวควรจะทำ คือ การลาออกจากตำแหน่ง แต่เราไม่ควรคาดหวังมากเกินไปจากคนเหล่านี้ เพราะไม่มีสัตย์จริงในหมู่โจร

ก็ยังเป็นสิ่งที่งุนงงมากสำหรับข้อสงสัยที่ทำไมคนเหล่านี้ถึงทำในสิ่งที่กล่าวถึงข้างต้น กลุ่มผู้บริหารระดับสูงมักจะมาจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชนของสังคม และมักจะมีฐานะการเงินและได้รับค่าตอบแทนที่ดีอยู่แล้ว ที่ชัดเจน คือ การกระทำของคนเหล่านี้ถือว่าเป็นความเขลาแต่อย่างน้อยพวกเขายังฉลาดพอที่ยอมจ่ายค่าปรับ เพราะหากพวกเขาเลือกที่จะสู้กับ ก.ล.ต. โดยการขึ้นศาล พวกเขาอาจจะต้องติดคุกในตอนนี้ก็ได้

แต่เพื่อความยุติธรรม การซื้อขายหุ้นแบบใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ก็ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เราอาจจะโต้เถียงได้ว่า การซื้อขายหุ้นแบบใช้ข้อมูลภายในนั้น แตกต่างจากการปรับแต่งบัญชีบริษัท เนื่องจากนักลงทุนโดยทั่วไปหรือผู้เสียหาย จะได้รับผลกระทบน้อยมาก ซึ่งแตกต่างจากโครงการ Share ลูกโซ่ เช่น Ponzi Scheme ที่ได้รับการค้นคิดโดย Bernard L.Maddoff ที่ทำให้นักลงทุนหลายคนต้องสูญเสียเงินที่พวกเขาออมไว้ทั้งชีวิต หรือเมื่อ Bernard Ebbers ปรับแต่งบัญชีที่ WorldCom ทำให้บริษัทต้องล้ม ในเวลานั้นถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลลับมีผลกระทบทางลบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์ไทย ก.ล.ต.ก็ได้ทำในส่วนที่รับผิดชอบแล้ว โดยการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด แต่กฎหมาย/กฎระเบียบใหม่ที่มีอำนาจมากขึ้นต้องได้รับการกำหนดขึ้นมา เพื่อทำให้มั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะต้องได้รับการลงโทษที่หนักหนากว่าการตักเตือน หรือปรับเล็กน้อย

ลองดูสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่าง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการใช้บททดสอบ หรือข้อกำหนดต่างๆ อย่างแพร่หลาย เพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลบางกลุ่มยังมีความพร้อมและความเหมาะสม

ในการดำเนินการ หรือยังคงดำรงตำแหน่งหน้าที่ในสถานที่ทำงานของพวกเขา สิ่งที่เราต้องการในประเทศไทยคืออะไร คล้ายกับพระราชบัญญัติการปลดกรรมการบริษัท ค.ศ. 1986 (Company Directors Disqualification Act of 1986)

บททดสอบความเหมาะสมและการอนุมัติสำหรับบุคคล (Fit and Proper Test for Approved Person – FIT) จะทำการทดสอบ/ประเมินความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียง รวมทั้งความสามารถ ความน่าเชื่อถือ และฐานะทางการเงินของบุคคลดังกล่าว และคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงกฎระเบียบที่จะไม่อนุญาตให้บุคคลที่ได้กระทำผิดทางอาญา หรือมีคณะกรรมการพิจารณาแล้วพบว่ากระทำผิดจริงจะสามารถเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้

ผมเพียงแต่หวังว่า สิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนยิ่งนักในบรรษัทภิบาลแบบไทยๆ จะได้รับการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันใกล้ แทนที่จะต้องรอกันไปอีกนาน มิฉะนั้นก็เป็นความลับที่ทราบกันทั่วไปว่า การที่จะนั่งเป็นกรรมการในบริษัทไทย บุคคลดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติเพียง 2 อย่าง กล่าวคือ 1.ต้องมีความสามารถที่จะยืมนาฬิกาของประธานคณะกรรมการ และบอกท่านประธานได้ว่าตอนนั้นเป็นเวลากี่โมงแล้ว และ 2.จะต้องเป็นคนที่หนังหนาและหน้าด้านไม่น้อย