posttoday

หากจะมองย้อนกลับไป

17 ธันวาคม 2558

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

ในช่วงปลายปีเช่นนี้ หลายคนคงเริ่มที่จะมองไปข้างหน้าแล้วว่าทิศทางการลงทุนในปีหน้าจะเป็นอย่างไร สินทรัพย์ประเภทใดจะให้ผลตอบแทนน่าจูงใจ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราขออนุญาติมองย้อนหลังไปในปีที่ผ่านมาก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นมีอะไรไม่เป็นไปตามที่ “เรา” (หมายถึงตลาดโดยรวม)บ้าง เพื่อที่จะได้เรียนรู้จากอดีต ก่อนที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า

หากจะดูในด้านผลตอบแทน ตลาดหุ้นไทยถือว่าเป็นที่ไม่ดีนัก SET Index ให้ผลตอบแทนติดลบที่ -13.2% (YTD, ณ วันที่ 15 ธ.ค. 58) ส่วนหุ้นทั่วโลก (MSCI All-Country World Index) ก็ให้ผลตอบแทนติดลบที่ -5.3% YTD แม้ว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างยุโรปและญี่ปุ่นจะให้ผลตอบแทนที่ดี (สอดคล้องกับมุมมอง บลจ.กรุงไทย ที่แนะนำการลงทุนในหุ้นยุโรปมาตลอดปี) แต่ตลาดประเทศเกิดใหม่ (EM) ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนติดลบและเป็นตัวฉุดรั้งภาพรวมของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนในด้านตราสารหนี้ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ถือว่าพอใช้ ผลตอบแทนรวมของพันธบัตรรัฐบาลไทยทุกรุ่นอยู่ที่4.2%YTD ขณะที่ผลตอบแทนของสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ นั้น ถือว่าแย่มาก ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงถึง37.7%YTD และราคาทองคำลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยติดลบที่ -10.2%YTD

ทั้งนี้ เราได้ย้อนไปดูค่าเฉลี่ยของประมาณการของนักวิเคราะห์จากการสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg หรือที่เรียกว่า Consensus Forecast ณ สิ้นปี 2557 เทียบกับผลที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ เพื่อให้เห็นว่ามีประเด็นไหนที่ผิดคาดไปบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีหลายจุดที่แตกต่างไปจากที่คาด และมีอีกหลายจุดที่เป็นไปตามคาดหรือดีกว่าที่คาด แต่เรามองว่าประเด็นที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ “พลาด” หลักๆ จะมีอยู่สองประเด็น

ประเด็นแรกคือ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากย้อนกลับไปดู Consensus Forecast เมื่อตอนสิ้นปี 2557 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ณ สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 0.95% กล่าวคือ นักวิเคราะห์ในคราวนั้นคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง โดยเริ่มจะเริ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 แต่ในความเป็นจริง เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้เพียงครั้งเดียวในสิ้นปีนี้ (ณ วันที่เขียนยังไม่ทราบผลการประชุมเฟด) การทำ QE ของ ECB ที่มีขนาดเหนือความคาดหมาย, การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มากกว่าคาด และความกังวลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงช่วยชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงแรก ต่อมาการลดค่าเงินหยวนของจีนในไตรมาส 3 ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้เฟดต้องเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยมาจนถึงทุกวันนี้

การที่เฟดไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วดังที่นักวิเคราะห์คาดไว้แทนที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่กลับปัจจัยลบที่สำคัญแทน เพราะทำให้เกิดความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเข้ามากดดัน Sentiment แทบจะทุกวันตลอดทั้งปี จนช่วงหลังๆ เราเริ่มได้ยินบางคนพูดว่า “ขึ้นๆ ไปเถอะ”  อันสะท้อนถึงความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากความกังวลในเรื่องนี้

ส่วนเรื่องที่สองที่หลายคนคาดไม่ถึงคือการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบอย่างรุนแรงต่อเนื่องจากปีก่อนโดยConsensus Forecast จากการสำรวจเมื่อตอนปลายปี 2557 คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ณ ปลายปี 2558 จะอยู่ที่ 75 เหรียญต่อบาร์เรลจริงอยู่ว่าราคาน้ำมันดิบมีการวิ่งขึ้นไปแตะระดับกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรลได้ในช่วง 3-4 เดือนแรก แต่พอหลังจากนั้นราคาน้ำมันดิบก็ร่วงลง โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 37เหรีญต่อบาร์เรล ห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มากทีเดียว ท่าทีของ OPEC ที่แข็งกร้าวและไม่ยอมลดกำลังการผลิต การที่อิหร่านอาจได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตร รวมถึงการที่เศรษฐกิจโลกชะลอลง (อันเป็นผลต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง) เหล่านี้ล้วนทำให้ราคาน้ำมันไม่เป็นไปตามที่คาด

ราคาน้ำมันที่ปรับลงรุนแรงนี้ส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาด้วย เศรษฐกิจของผู้ส่งออกน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น รัสเซีย บราซิล มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น (บราซิลและมาเลเซียมีปัญหาการเมืองในประเทศเพิ่มเติมเข้ามาด้วย)ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้ต่ำกว่าที่คาด การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2558 นี้ถูกปรับลดลงจาก 3.5%ในการสำรวจเมื่อตอนสิ้นปี 2557 เหลือล่าสุดที่ 3.0% เท่านั้นและส่งผลต่อเนื่องไปยังผลประกอบการของทั้งบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานและบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯตลาดหุ้น ค่าเงิน และสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ในลักษณะที่กล่าวข้างต้นนั้นเอง

ในโอกาสหน้า เราจะได้เรียนผู้อ่านให้ทราบถึงมุมมองของเราต่อทิศทางการลงทุนในปีหน้าครับ