posttoday

“อาเซียน” เพชรเม็ดงามใกล้ตัว

17 ธันวาคม 2558

โดย เจฟ สุธีโสภณ กองทุนบัวหลวง

โดย เจฟ  สุธีโสภณ กองทุนบัวหลวง

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถิ่นฐานของประเทศไทยเรานั้น เป็นภูมิภาคที่หลอมรวมความแตกต่างเข้าด้วยกัน ทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจแล้ว กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถร่วมมือและสัมพันธ์กันได้อย่างดี และจะยิ่งดีขึ้น เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เปิดตัวเป็นทางการในสิ้นปีนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็จะแน่นแฟ้นเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น การเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน และเงินทุน จะเป็นไปอย่างเสรี เปรียบประหนึ่งหัวรถจักรขับเคลื่อนขบวนเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบใหญ่ขยายตัวเป็นทวีคูณ

เมื่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของอาเซียน เนื่องจากตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ด้วยขนาดประชากร 600 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรโลก มากกว่าประชากรในทวีปอเมริกาเหนือหรือสหภาพยุโรป และมีขนาดของแรงงานถึง 300 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับสามของโลก ตามหลังเพียงประเทศจีนและอินเดียเท่านั้น อาเซียนยังเป็นผู้ส่งออกอันดับสี่ของโลก และจะก้าวขึ้นเป็นอันดับสามในปี 2018  ถ้าคิดในแง่มูลค่าเศรษฐกิจรวมทั้ง 10 ประเทศ ก็สูงถึง 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเป็นอันดับเจ็ดของโลก และคาดว่าจะก้าวขึ้นอันดับห้าได้ในปี 2018

ด้วยอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งดังกล่าว  Economist Intelligence Unit ได้ประเมินว่า ในอีกห้าปีต่อจากนี้ เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.6% สูงกว่าประเทศเกิดใหม่อย่างบราซิลหรือรัสเซีย แต่ยังต่ำกว่าอินเดียและจีนเพียงเล็กน้อย ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้อาเซียนเติบโตต่อเนื่องมีหลากหลายประการ อาทิ มีประชากรในวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก สังคมเมืองขยายตัวมากขึ้น ชนชั้นกลางที่มีศักยภาพในการจับจ่ายกำลังเติบโต รวมทั้งการเร่งรัดพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

อาเซียนมีโครงสร้างประชากร (Demographic) ที่พร้อมรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประชากรทั่วทั้งอาเซียนกว่า 1 ใน 3 มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีอายุเฉลี่ยที่ 28 ปี และระหว่างปี 2013 ถึง 2018 คาดว่าประชากรวัยทำงานจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 1.7% เท่ากับว่ามีแรงงานหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดถึง 28 ล้านคน และข้อดีก็คือ แรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าในอดีต ขณะที่ต้นทุนค่าจ้างยังค่อนข้างต่ำ สวนทางกับค่าแรงของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นทุนการผลิตที่ต่ำยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติต่างมาลงทุนในอาเซียน เพื่อทั้งเป็นฐานการผลิตและให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพสูงมากขึ้น

การพัฒนาสู่สังคมเมือง (Urbanization) การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเมืองเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจอันรวดเร็ว เช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศพัฒนา รวมทั้งมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดีย  ทุกวันนี้ ประชากรอาเซียนที่อาศัยในชุมชนเมืองมีสัดส่วนเพียง 36% ของประชากรทั้งหมด ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับอเมริกาเหนือ (77%) ยุโรปตะวันตก (63%) และละตินอเมริกา (55%) แต่หากเริ่มจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2030 คาดว่าประชากรราว 90 ล้านคนจะย้ายไปอยู่ในเมือง และเพิ่มสัดส่วนเป็น 45%  และความเจริญจะกระจายตัวไปยังหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น ในอาเซียนนั้น มีเมืองมากกว่า 80 แห่ง ที่มีศักยภาพพร้อมเติบโตทางเศรษฐกิจได้ปีละ 7% ไปจนถึงปี 2030

เมื่อคนนับเป็นล้านๆ โยกย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง เปลี่ยนอาชีพจากภาคเกษตรกรรมมาหางานในเมือง รายได้ก็เพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นด้วย หนุนการบริโภคสินค้าต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องใช้และอุปกรณ์ทันสมัย เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร การศึกษา บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น

การขยายตัวของชนชั้นกลาง ผู้บริโภครายสำคัญ เมื่ออาเซียนสามารถดึงดูดบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ให้มาลงทุนในภูมิภาค ย่อมทำให้เกิดการจ้างงาน ประกอบกับคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น จะช่วยหนุนให้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อก็เพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเช่นกัน  บริษัท AC Nielsen ประเมินว่าภายในปี 2020  กลุ่มชนชั้นกลางอาเซียนจะขยายตัวเป็นสองเท่าหรือจาก 200 ล้านคนเป็น 400 ล้านคน พร้อมกับสร้างกำลังซื้อมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในวันนี้ อาเซียนเป็นฐานการบริโภคสำคัญของสินค้าหลายชนิด เช่น เป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก และเป็นตลาดอันดับสามของโทรศัพท์มือถือ
แม้ว่าลักษณะการจับจ่ายใช้สอยของแต่ละประเทศยังแตกต่างไปตามระดับรายได้ของประชากร เช่น สิงคโปร์หรือมาเลเซียซึ่งประชากรมีรายได้ต่อหัวสูง ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีรายได้ต่อหัวในระดับกลางๆ ส่วนกลุ่มประเทศอย่าง เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และ สปป.ลาว มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนัก แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นเหมือนกันในทุกประเทศก็คือ การเพิ่มขึ้นของรายได้ในแต่ละครัวเรือน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง 

การเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจอาเซียนจะขับเคลื่อนได้ในระยะยาวนั้น ยังต้องอาศัยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อสนับสนุนระบบขนส่งในประเทศ (Logistic) และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ นอกจากสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนทำให้ต้นทุนค่าขนส่งในอาเซียนแพงติดอันดับโลก หากคิดคำนวณต่อจีดีพีแล้ว ต้นทุนค่าขนส่งในอินโดนีเซียและเวียดนามจะอยู่ที่ 20% และ 25% ตามลำดับ ในบางแห่งค่าขนส่งปรับตัวสูงถึง 50% ของต้นทุนเลยทีเดียว ส่วนในฟิลิปปินส์ยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากขาดแคลนแหล่งพลังงานที่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทุกประเทศตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และได้เร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอาทิเช่น ทางด่วน รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า นอกจากนี้โครงการ “เส้นทางสายไหม” (One Belt One Road) ของจีนก็จะช่วยเชื่อมต่อทางคมนาคมให้ถึงกัน เพราะเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มอาเซียน โดยในปีนี้ ประเทศจีนได้ปล่อยกู้ให้โครงการสาธารณูปโภคในประเทศอินโดนีเซีย และในปี 2016 ก็จะลงทุนในรถไฟฟ้าความเร็วสูงในไทยอีกด้วย

นอกจากการลงทุนจากภาครัฐแล้ว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อาเซียนนั้นจัดเป็นภูมิภาคที่ได้รับความสนใจในการลงทุนเป็นอันดับต้นๆ สมาชิกหลักทั้งห้า อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย ร่วมกันดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้สูงกว่าประเทศจีนในปี 2013 (1.28 แสนล้านเหรียญ ต่อ 1.17 แสนล้านเหรียญ) และในปี 2015 ประเทศอินโดนีเซียสามารถดึง FDI ได้มากเป็นอันดับ 6 ของโลก ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 7 และมาเลเซียอยู่อันดับ 9  ความสำคัญของ FDI ที่นอกเหนือจากการจ้างงานแล้ว สิ่งที่จะได้รับเพิ่มเติมคือ ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับเพิ่มรายได้ของประชากรไปในตัว

กองทุนบัวหลวงมองว่าปัจจัยบวกต่างๆ ที่กล่าวมา จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอาเซียนในระยะยาว แม้ในระยะสั้นจะปรับตัวลงจากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออก เนื่องจากความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และเงินสกุลดอลล่าร์ที่แข็งค่าขึ้น แต่เรากลับเห็นว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสม ที่จะลงทุนระยะยาวในภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตต่อไปในอนาคต