posttoday

เฟดและประมูลคลื่น 900 ชี้ทิศหุ้นไทย

14 ธันวาคม 2558

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์.ธนชาต / [email protected]

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์.ธนชาต / [email protected]

ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยร่วงยาวถึง 113 จุด หรือ 8.1% มาปิดอยู่ที่ 1280.92 จุด ท่ามกลางปัจจัยลบรุมเร้า ดังนี้

ปัจจัยภายนอกที่กดดันตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้ง รวมถึงบ้านเรา ได้แก่ ประการแรก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดำดิ่งต่ำสุดในรอบ 16 ปี นำโดยน้ำมันดิบที่ทรุด 11% ในสัปดาห์เดียว ต่ำสุดในรอบ 7 ปี ภาวะตกต่ำของสินค้าโภคภัณฑ์กดดันหุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ทั่วโลก

ประการที่ 2 แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมวันที่15-16 ธ.ค.นี้ โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไต่ขึ้นสู่ระดับ 80% หลังเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะ

การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ กลับสู่ตลาดที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากความแตกต่างของนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายการเงินของเฟดเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย นำโดยธนาคารกลางยุโรป จีน และญี่ปุ่น สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกยังอยู่ในระดับสูงต่อไป แต่การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะผันผวน 

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่สะดุด หลายภูมิภาค “แผ่ว” นำโดยจีน และประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะประเทศแถบละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น

ผู้ลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยในปีนี้สูงถึง 1.27 แสนล้านบาท ดันยอดขายสะสมพุ่งขึ้น 3.3 แสนล้านบาทแล้ว นับจากอดีตประธานเฟดส่งสัญญาณลด QE เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 จนระดับการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติลดต่ำกว่าช่วงหลังวิกฤตซับไพร์มด้วยซ้ำ แรงขายต่างชาติจึงน่าจะเหลือไม่มาก
ประการที่ 3 ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ฉุดเงินหยวนอ่อนค่าลง 2% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ 6.4564 เทียบดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง
เสาร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการค่าเงินหยวน จากที่เคยผูกติดค่าเงินหยวนกับดอลลาร์เพียงสกุลเดียว เป็นอ้างอิงกับตะกร้าเงินที่ประกอบด้วยสกุลเงินของประเทศคู่ค้า มีผลทันที

การเปลี่ยนการจัดการค่าเงินหยวนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อสกุลเงิน และตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้งแถบเอเชีย ช่วงนี้จึงต้องเกาะติดการเคลื่อนไหวของค่าเงิน หากเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจะเป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น

ปัจจัยลบภายในประเทศ ได้แก่

ประการแรก การถูก FAA ลดชั้นมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย แต่ความกังวลต่อธุรกิจการบินบรรเทาลง หลัง EASA มองสวน คงมาตรฐานนี้ไว้ 

ประการที่ 2 ความกังวลต้นทุนใบอนุญาตคลื่น 4G และการแข่งขันในธุรกิจมือถือที่อาจรุนแรงขึ้นอีก หาก JAS ชนะการประมูลคลื่น 900MHz ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้

ประการที่ 3 ข้อกังวลเรื่องบรรษัทภิบาลของกลุ่มซีพี 

ปัจจัยลบข้างต้นฉุดหุ้นไทยร่วงยาว ปริ่มหลุดแนวรับ 1280 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ดัชนีหุ้นอยู่ในเขตถูกขายมากเกินไป RSI อยู่ที่เพียง 16.3
ท่ามกลางปัจจัยลบ ค่าพีอีหุ้นไทยลดเหลือเพียง 12.9 เท่าของประมาณการกำไรปี 59 ที่คาดว่า กำไรปกติจะโตราว 13% ต่อให้ลดประมาณการเหลือโต 7% ค่าพีอีจะอยู่ที่ 13.4 เท่า ยังคงต่ำกว่าค่าพีอีเฉลี่ย 10 ปีที่ 14.7 เท่า

หากดัชนีดิ่งยาวไปแถว 1200 จุด จริง ค่าพีอีปีหน้าจะลดเหลือราว 11 เท่า หรือต่ำกว่าพีอีเฉลี่ยลบไปอีก 1SD (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)

ขณะที่ตลาดหุ้นตกต่ำ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ หนุนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ และเริ่มมีความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

อัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยีลที่อยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ฐานะการเงินของบจ.ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์แข็งแรง ราคาหุ้นที่ลดลงมากได้ช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล การปรับฐานของตลาดหุ้นรอบนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะหนึ่งปีขึ้นไป  สามารถเลือกเก็บหุ้นพื้นฐานดี เช่น AOT BDMS BEAUTY CK DELTA EA KCE MINT SAWAD UNIQ รวมถึง SCC

ในส่วนของหุ้นมือถือนั้น หากการประมูลคลื่น 900 ได้ผู้ชนะเป็นผู้ประกอบการหน้าเดิม จะบรรเทาความวิตกเรื่องการแข่งขันลงมาก แม้ต้นทุนใบอนุญาตจะแพงกว่าที่ประเมินไว้ก็ตาม ในกลุ่มนี้เรายังชอบ ADVANC INTUCH