posttoday

ตลาดหลักทรัพย์ในอุดมคติ

03 ธันวาคม 2558

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

ท่านผู้อ่านที่เล่นหุ้น หรือซื้อกองทุนรวม เคยสงสัยหรือไม่ครับว่าเจ้าหน้าที่การตลาดเขาชอบมาจุกจิกกับเราตั้งแต่ตอนเปิดบัญชี ตอนซื้อ-ขาย บอกให้ไปทำเลยก็ไม่ได้ ต้องมีบันทึก ต้องห้ามผิดกฎ ผิดขั้น ผิดตอน เราก็คิดว่า จะรีบไปทำกำไร ไม่มีเวลามาทำเรื่องสาระน้อยแบบนี้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันจะทำเรื่องน่าเบื่อน่าอยู่อีก

เจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องทำตามกฎเกณฑ์ทางการ ถ้าไม่ทำเขาก็ผิดก็ถูกลงโทษ คนส่วนใหญ่พออ้างว่าต้องทำตามกฎทางการก็จะพยายามทำตาม แต่ไม่ค่อยรู้ว่าทำไมต้องมีกฎเกณฑ์ แบบที่ทำให้การลงทุนแบบที่เราอยากทำก็ทำไม่ได้

ในตลาดหลักทรัพย์(ตลาดฯ) ทั่วโลก รวมทั้งของไทย ทางการต้องการให้ตลาดฯ ของตนเข้าใกล้ตลาดฯ ในอุดมคติมากที่สุด กฎเกณฑ์ ระเบียบ ขั้นตอน วิธีการลงทุน ที่กำหนดขึ้นเพื่อทำให้ตลาดฯ ไปถึงจุดนั้น

แล้วตลาดฯ ในอุดมคติของทางการทั่วโลกหน้าตาเป็นอย่างไรหรือ? หลักคิดพื้นฐานที่ผู้ดูแลตลาดฯ ทั่วโลกเชื่อกันว่าถ้าทำตามแล้ว ตลาดฯ ของตนจะต้องเป็นตลาดฯ ในฝันแน่ ๆ ใครที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคต้องร้องอ๋อ คือ ทฤษฎีว่าด้วย ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition)ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเชื่อมั่นว่าเป็นตลาดที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความสุขมากที่สุด

มีเงื่อนไข 4 อย่างที่ทำให้ตลาดเป็นตลาดในฝันของทางการ ได้แก่

1. ผู้ซื้อไม่เลือกว่าต้องซื้อกับผู้ขายคนไหน และผู้ขายก็ไม่เลือกว่าจะขายผู้ซื้อคนไหน สินค้าก็เหมือนกัน ดังนั้นราคาเท่านั้นเป็นตัวตัดสินว่าใครจะซื้อจะขายกับใคร เวลาเราสั่งซื้อหุ้น A เราจะไม่รู้เลยว่าซื้อจากใคร คนขายก็ไม่รู้ว่าขายให้เรา เราซื้อและเขาขายเพราะราคาหุ้น A ถูกใจทั้งผู้ซื้อผู้ขายเท่านั้นและหุ้น A ทุกหุ้นก็เหมือนกัน

2. ตลาดมีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก และผู้ซื้อ/ผู้ขายคนใดคนหนึ่งไม่สามารถสั่งซื้อหรือขายสินค้าในจำนวนมากจนถึงขนาดกระทบราคาสินค้าได้ เงื่อนไขนี้เป็นปัญหาปวดหัวของตลาดฯ เกิดใหม่ทุกตลาด เพราะตอนตั้งตลาดใหม่ ๆ ผู้ซื้อก็น้อย ผู้ขายก็ไม่มาก ต้องทำโปรโมชั่น หาคนมาเล่นหุ้น (ลงทุน) กันขนานใหญ่ ทั้งยกเว้นภาษี ทั้งให้การศึกษาฝึกสอน หลายครั้งจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดก็มีไม่มาก (ฟรีโฟรทต่ำ) ผู้ซื้อผู้ขายโยกราคาหุ้นได้โดยไม่ยาก ตลาดแบบนี้ฟังดูคุ้น ๆ เป็นตลาดที่ไกลจากเงื่อนไขข้อสอง

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดรู้ข่าวสารข้อมูลเท่าเทียมกันพร้อมกันในการตัดสินใจซื้อหรือขาย ทั้งข้อมูลตัวสินค้า และราคาเสนอซื้อ-ขายในแต่ละขณะ เงื่อนไขนี้ทางการเอาเป็นเอาตายมากครับ ในตลาดฯ ทั่วโลก คนรู้ข้อมูลหุ้นก่อนและเกี่ยวข้องกับกิจการของหุ้นนั้น ๆ ห้ามเป็นผู้ซื้อผู้ขาย มิฉะนั้นทางการจะเอาผิดฐานซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน และการสร้างข่าวเทียม ข่าวลวง เพื่อหวังสร้างราคาหุ้น ก็ทำให้ตลาดผิดไปจากเงื่อนไขนี้ โทษหนักทั้งสองกรณี

4. ผู้ซื้อและผู้ขายรายใหม่สามารถเข้ามาซื้อขายสินค้าได้โดยเสรีในระยะยาวในตลาดฯ หุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หากได้รับความนิยมมาก ราคาจะสูงขึ้น ผู้ขายที่เป็นเจ้าของกิจการของหุ้นนั้นสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำ (ขายหุ้นจำนวนน้อยได้เงินมาก) ก็สามารถเพิ่มจำนวนหุ้นเข้าสู่ตลาดได้ส่วนผู้ซื้อรายใหม่ก็สามารถเข้าซื้อได้โดยไม่มีใครห้ามเงื่อนไขนี้อุปสรรคสำคัญคือต้นทุนค่าใช้จ่าย(Transaction Cost) ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในการเข้าหรือออกจากตลาดหรือเข้าซื้อหรือขายหุ้น

ในแง่การลงทุน การวิเคราะห์ภาวะในอุดมคติของตลาดหุ้นแต่ละตัว จะช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะลงทุนหุ้นตัวนั้น ๆ ในรูปแบบการลงทุนสไตล์ใด

และหากมองจากแง่มุมหลักคิดตลาดในอุดมคติของทางการแล้ว ก็อยากถามว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยใกล้เป็นตลาดในฝันหรือยังครับ?