posttoday

ถึงเวลา...ซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารหรือยัง?

02 พฤศจิกายน 2558

โดย...บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต

โดย...บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต

ตามปกติเมื่อมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และหุ้นกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์จะสร้างผลตอบแทนได้ดี เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ครั้ง มักจะทำให้การปล่อยสินเชื่อรายย่อยเติบโตและส่งผลให้ตอบแทนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวทำผลงานได้ดี อย่างในปีที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ออกนโยบายไทยเข้มแข็งมูลค่า 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อรายย่อยเติบโตได้ถึง 18% และหุ้นกลุ่มธนาคารในปีนั้นก็สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 48% (ปี 2010) และในครั้งที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 8 แสนล้านบาท การปล่อยสินเชื่อก็เติบโตสูงถึง 22% และหุ้นกลุ่มธนาคารทำผลตอบแทนได้สูงถึง 33% (ปี 2012) เพราะฉะนั้นก็สามารถคาดหวังได้ว่าหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรองนายกสมคิดมูลค่ากว่า 336 แสนล้านบาทเฉพาะที่เสร็จสิ้นในปีนี้ ก็น่าจะทำให้การปล่อยสินเชื่อรายย่อยเติบโต และทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นเช่นกัน ส่วนหุ้นในกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ ที่ผ่านมาก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้น 40% และ 166% หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2010 และ 2012 ตามลำดับ

ประกอบกับ ปัจจัยที่หุ้นกลุ่มธนาคารต้องให้ความสนใจมากที่สุด อย่างแนวโน้มหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ก็ถูกควบคุมผ่านนโยบายรัฐบาลในเรื่อง SMEs น่าจะทำให้ความกังวลลดลง แม้ล่าสุดเราก็เห็นตัวเลข NPLs ในไตรมาส 3 มาอยู่ที่ระดับ 2.79% แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกรณี SSI UK เป็นหลัก เพราะธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทิสโก้ ที่เป็นเจ้าหนี้หลักของกรณีนี้ มีการกันเงินสำรองในส่วนที่ครอบคลุมกรณีที่เกิดขึ้นไว้เต็มจำนวนมูลหนี้ตามคำสั่งของแบงค์ชาติ ซึ่งก็ถูกสะท้อนให้เห็นในตัวเลข NPLs ของระบบอย่างชัดเจนเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าตัวเลข NPLs ล่าสุด แท้จริงไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจโดยรวมหรือรายย่อยเป็นปัจจัยหลัก เพราะฉะนั้นคาดว่าจนไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ NPLs ก็ไม่น่าเกิน 3% ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าในไตรมาสสุดท้ายการปล่อยสินเชื่อก็จะเพิ่มมากขึ้นทั้งจากโครงการภาครัฐและความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัว และแม้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะซบเซาจนหลายคนกังวลว่าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจ แต่กลับมีธนาคารถึง 5 แห่งที่มียอด NPLs ลดลง (ธนชาต/UOB/เกียรตินาคิน/TMB/ICBC) ซึ่งก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาการคาดการณ์การตั้งเงินสำรอง (LLPs) ในปีหน้า (2016) น่าจะลดลง 12% ก็คาดว่าจะทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น เพราะผลการดำเนินงานจะดีขึ้นแบบมีแต้มต่อไปแล้ว 12% และถ้าเราดูจริงๆจะพบว่าการตั้งสำรองในปี 2015 สูงมากกว่า 1 แสนล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ขนาดในปีที่เกิด Lehman Crisis ยังตั้งสำรองไว้เพียง 4 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น  ซึ่งก็ต้องถือว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความมั่นคงแข็งแรงมาก

แล้วที่ใครๆ บอกว่า ตอนนี้หุ้นกลุ่มธนาคารถูกลงมาก ..ถูกจริงไหม?

ปัจจุบันค่า P/E ของหุ้นกลุ่มธนาคารได้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 9.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เคยสูง 11.6 เท่า นอกจากนั้นระดับ P/BV ก็ปรับลดมาอยู่ที่ 1.2 เท่าซึ่งต่ำกว่าในอดีตที่เคยแตะระดับ 1.35 เท่า สำหรับผม การที่ผมจะพิจารณาว่าหุ้นกลุ่มไหนถูก แปลว่าราคาที่ผมได้จะต้องต่ำกว่ามูลค่าที่หุ้นมี มูลค่าหุ้นของกลุ่มธนาคารผมมักจะพิจารณาเรื่องการจ่ายปันผลประกอบด้วย เพราะอัตราการจ่ายเงินปันผลของหุ้นกลุ่มธนาคารน่าสนใจตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลัง อยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี และก็จ่ายอย่างสม่ำเสมอแม้จะเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างในปี 2008 ก็ตาม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราคาหุ้นลงมาจนถือว่าถูกแล้ว อัตราเงินปันผลก็ถือว่าดี ช่วงนี้จึงถือเป็นจังหวะที่น่าสนใจ แม้จะยังมีความเสี่ยงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง แต่หากเน้นลงทุนในระยะยาว 1-2 ปี ก็ถือว่านี่เป็นโอกาสที่ไม่ควรพลาดครับ

โดย บลจ.ธนชาต เปิดขายกองทุนเปิดธนชาตหุ้นไทยไฟแนนเชียลเซ็คเตอร์ (T-FinanceTH) ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจการเงิน (Financial Sector) ได้แก่ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ ประกันภัยและประกันชีวิต เพราะหุ้นในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มธุรกิจประกันภัย ปัจจุบันก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน กองทุนนี้จึงมีความยืดหยุ่นที่จะสร้างโอกาสทำกำไรได้สูงว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารเพียงอย่างเดียว เสนอครั้งแรกในระหว่างวันที่ 2-13 พฤศจิกายน นี้

สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ที่ [email protected]