posttoday

SME ไทยถึงเวลา Go inter & Hitech

07 ตุลาคม 2558

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

ในการทำธุรกิจ ถ้าเราขายสินค้าได้ราคาดี และจำนวนมาก ๆ ก็แปลว่าเราก็จะได้กำไรมาก อีกทั้งถ้าเรามีกำไรมาก ๆ และต่อเนื่องยาวนาน ธุรกิจของเราก็จะมีโอกาสในการเจริญเติบโตมาก จากบริษัทเล็กก็จะกลายเป็นบริษัทใหญ่ในเวลาไม่นาน

SME ของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ ขายสินค้า หรือบริการได้ในราคาไม่ดีนัก และขายได้ในจำนวนน้อย อีกทั้งล้มหายตายจากเร็ว จึงไม่ค่อยมีโอกาสเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้

SME ไทยกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคบริการ ซึ่งรวมถึง ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจอาหาร ภัตตาคาร ท่องเที่ยว เป็นต้น (รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2556, สสว.) SME ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีผลิตภาพค่อนข้างต่ำ) เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ (SME Agenda, Thailand Future Foundation) ทำให้มูลค่าเพิ่มที่ได้จากสินค้าและบริการ ไม่สูงมาก ซึ่งแปลว่า ขายได้ในราคาที่ไม่ดี หรือ อัตรากำไรของสินค้าต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่

ถ้ามองลึกลงไปอีกถึงสาเหตุก็จะพบว่า SME ไทย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีนวัตกรรมใหม่ ๆ งานศึกษาของ GEM THAILAND ในปี 2014 พบว่า มีผู้ประกอบการไทย เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ที่บอกว่า มีสินค้าและบริการใหม่ๆ เทียบกับตัวเลขเดียวกันของไต้หวันที่ร้อยละ 50นอกจากนั้น ยังพบว่า ผู้ประกอบการไทย ร้อยละ 88 ใช้เทคโนโลยีที่เก่าแก่กว่า 5 ปี ในการผลิตสินค้า

ในประเด็นด้านการขายให้ได้มาก ๆ นั้น ก็พบว่า มีผู้ประกอบการไทยเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ที่เข้าถึงตลาดต่างประเทศ หรือส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เทียบกับประเทศสิงคโปร์ ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดต่างประเทศถึงร้อยละ 85 (GEM THAILAND 2013) โอกาสที่ไทยจะขยายยอดขายให้ใหญ่โตมาก ๆ จึงถูกจำกัดด้วยขนาดของตลาดสินค้าที่เล็ก เพราะขายกันภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

ปัญหาอยู่ที่ตัว SME ไทยเราเองที่ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ ในภาวะที่มีวงจรชีวิตของสินค้าและบริการในปัจจุบันที่สั้นลงมาก ๆ เมื่อเทียบกับอดีต หากเจ้าของกิจการไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสินค้าและบริการให้ตอบสนองสภาพตลาดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้ ก็จะต้องล้มหายตายจากไปไม่สามารถเติบใหญ่ได้

นโยบายรัฐบาลที่มุ่งสร้างการค้าชายแดน และส่งเสริมการลงทุนใน AEC จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะทำให้ตลาด SME ขยายขอบเขตใหญ่ขึ้น ในขณะที่การให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยผ่านกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารรัฐ จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ และสร้างธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ ในภาวะที่ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

SME ไทยต้องให้ความสำคัญกับการคิดถึงความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้ามากขึ้นไม่เฉพาะความต้องการในปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการในอนาคตด้วย และหาหนทางที่จะตอบสนองความต้องการนั้น ๆ ให้เหนือกว่า และดีกว่าคู่แข่ง การติดตามข้อมูลข่าวสารของคู่แข่ง การคิดวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของลูกค้า นำไปสู่การวิจัยและพัฒนา ซึ่งได้แก่ การนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาแก้ปัญหาของลูกค้า หรือตอบสนองลูกค้าให้มากขึ้นให้ดีขึ้น ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้ SME สามารถมีสินค้าบริการที่ไม่ตกยุค และขายได้ราคาดี อันจะทำให้ SME ปรับตัวอยู่รอดในสภาพทางธุรกิจยุคปัจจุบันได้

สำหรับนักลงทุนไทย การลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ หรือธุรกิจที่เกิดแล้วแต่ต้องการเงินทุนเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ และท้าทาย ผลตอบแทนที่สูงมากเป็น 5 เท่า หรือ 10 เท่า ของเงินลงทุนเริ่มแรก เป็นสิ่งดึงดูดใจนักลงทุนรายใหญ่หลายรายให้เข้าสู่การลงทุนประเภท Venture Capital หรือ Private Equity
เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน SME ในขณะนี้ ก็เป็นโอกาสอันดีที่นักลงทุนไทยจะได้ให้ความสนใจกับธุรกิจ SME ที่มีศักยภาพ ในฐานะที่เป็นอีก Asset Class หนึ่งที่น่าสนใจ

การส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ให้ SME ไทย Go Inter และ Hitech จะเป็นธุรกรรมที่ได้ทั้งเงินและได้ทั้งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย