posttoday

การลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของกิจการ

10 กันยายน 2558

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด


การเป็นเจ้าของกิจการเป็นความฝันของคนหลายๆ คนในยุคปัจจุบัน โดยเป็นการลงทุนและลงแรง คือใช้ทั้งเงินที่เก็บหอมรอมริบมา และทั้งความรู้ความสามารถของผู้ลงทุนในกิจการเฉพาะนั้น เพื่อสร้างผลกำไร โดยมีอำนาจบริหารจัดการอยู่ด้วย อันที่จริงการลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของกิจการเป็นรูปแบบการลงทุนปกติของระบบเศรษฐกิจก่อนที่ระบบตลาดทุนจะเกิดขึ้น กิจการดังกล่าวมักมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารจัดการกิจการนั้น ๆ กิจการดังกล่าวจึงมักถูกเรียกว่า ธุรกิจครอบครัว (Family business)

เมื่อระบบตลาดทุนเกิดขึ้น นักวิชาการในโลกตะวันตกก็มีความเชื่อกันว่า ธุรกิจครอบครัวจะค่อย ๆลดสัดส่วนลงและเปิดทางให้ธุรกิจที่ระดมทุนจากตลาดทุนเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้เพราะธุรกิจครอบครัวมีจุดอ่อนมากมายที่มักจะทำให้แข่งขันไม่ได้ในระยะยาว เช่น การบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะไม่ใช้มืออาชีพ และการทะเลาะเบาะแว้งของสมาชิกครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการโดยเฉพาะการแย่งอำนาจการบริหารกิจการ ในขณะที่กิจการที่ระดมทุนจากตลาดทุน แบ่งแยกความเป็นเจ้าของ และอำนาจการบริหารกิจการออกจากกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการกิจการด้วยนักบริหารมืออาชีพ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัวของเจ้าของกิจการ
ฟังอย่างนี้แล้ว นักลงทุนที่ตั้งใจลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของกิจการอาจจะใจฝ่อเลิกฝัน เพราะลงทุนไปแล้วก็อาจจะแข่งขันสู้เข้าไม่ได้ แต่ช้าก่อนนะครับ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เป็นไปอย่างความเชื่อดังกล่าวข้างต้น ในบรรดาบริษัทที่มียอดขายมากที่สุดในโลก 500 บริษัท (Fortune Global 500) ในปัจจุบันมีบริษัทประเภทที่เป็นธุรกิจครอบครัวถึงร้อยละ 19 โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในปี 2005 ตัวอย่างบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวระดับโลกดังกล่าว ได้แก่ Wallmart, BMW, Samsung, และ Ford เป็นต้น

บริษัทครอบครัวระดับโลกสามารถยืนหยัดและเติบโตเพราะแก้ไขจุดอ่อนสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการ โดยการรู้จักนำเอาผู้บริหารมืออาชีพมาทำงานให้กับบริษัท แต่ยังคงอำนาจการเป็นเจ้าของกิจการ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยอยู่ด้วยบริษัทที่มียอดขายเกินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปีที่เป็นบริษัทครอบครัว มีอยู่ถึงร้อยละ 85
การพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคนี้จะไม่ทำให้ธุรกิจครอบครัวลดลงแต่กลับจะทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องปรับตัว นอกจากการรู้จักใช้มืออาชีพให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ในการบริหารกิจการแล้ว จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากตลาดทุนที่พัฒนาขึ้นมาอีกด้วย การมีตลาดทุนที่พัฒนาแล้ว ทำให้เจ้าของกิจการสามารถใช้เงินทุนของตนเองที่มีอยู่น้อย ควบคุมกิจการที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าได้

จากเงินเริ่มต้น 102 บาท หากระดมทุนจากตลาดทุน98 บาท และกู้ธนาคารด้วยอัตราส่วนหนี้ต่อทุนที่ 1:1 คือ กู้ 200 บาท เจ้าของก็สามารถควบคุมกิจการขนาด 400 บาท ได้(สมมติเรียกกิจการนี้ว่าบริษัทแม่)

และถ้าบริษัทแม่แบ่งเงิน 102 บาท จากสินทรัพย์ 400 บาทของตนมาสร้างบริษัทลูก โดยบริษัทลูกระดมทุนจากตลาดทุน และกู้ธนาคารในลักษณะเดียวกับบริษัทแม่ ขนาดกิจการของบริษัทลูกจะเท่ากับ 400 บาท เช่นกัน

จากเงินทุนเริ่มต้นที่ 102 บาท เจ้าของทุนสามารถควบคุมขนาดกิจการได้ถึง 800 บาท โดยเจ้าของกิจการถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 ในบริษัทแม่ และมากกว่าร้อยละ 50 ในบริษัทลูก  (ผ่านการถือหุ้นโดยบริษัทแม่)

การจัดโครงสร้างการถือครองกิจการที่เหมาะสมและการใช้นวัตกรรมทางการเงินรูปแบบอื่น ๆ จะทำให้เงินทุนเริ่มต้น 102 บาทข้างต้น สามารถขยายการลงทุนมากกว่า กรณีตัวอย่างข้างต้นอีกหลายสิบเท่า โดยยังคงความสามารถในการควบคุมกิจการอยู่ได้

การลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของกิจการ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากเรามีความคิดดี ๆ ทางธุรกิจ มีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้า (Passion) ที่จะเป็นเจ้าของกิจการ รู้จักใช้มืออาชีพ และรู้จักใช้ระบบตลาดเงินตลาดทุนให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ