posttoday

ปรับพอร์ตรับมือทุกสถานการณ์

31 สิงหาคม 2558

โดย...ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ [email protected]

โดย...ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ [email protected]

บรรยากาศการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ ผมเชื่อว่า หลักๆแล้วเกิดจากการซื้อขายภายใต้สถานการณ์ความกังวลและไม่ชัดเจน จึงได้ส่งผลให้เกิดแรงขาย เพื่อปิดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยปัจจัยหลักๆ คือ ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ของประเทศจีนและความกังวลดังกล่าว ได้ลุกลามไปถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ยืนยันใช้กำลังการผลิตเท่าเดิมซึ่งถือว่าทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี กดดันหุ้นในกลุ่มโภคภัณฑ์ของทุกๆตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออก ประกอบกับตลาดยังมีความไม่แน่นอนเรื่องทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าว จึงนำมาซึ่งความกังวลในการลงทุน     

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้ลงทุนผมยังแนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อให้ทันตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์โดยกระจายการลงทุนให้ครอบคลุมในทุกๆสินทรัพย์ ผมขอเริ่มต้นด้วยภาพการลงทุนใน ตราสารหนี้ เพราะปัจจุบันสินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวน นักลงทุนเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะตราสารหนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Develop Market) อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เยอรมัน และ ญี่ปุ่น

ขณะที่ตราสารหนี้ในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ยังคงมีแรงขายอยู่บ้าง สำหรับแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ผมมองว่าจากนี้แรงขายของนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มลดลง เพราะตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีการเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติมาตลอด ดังนั้น Side way down จะเริ่มลดลง

ตลาดหุ้นในประเทศ ช่วงนี้ผมแนะนำลงทุนระยะยาว เพื่อรอให้ความเสี่ยงในระยะนี้ผ่านพ้นไป เพราะหากพิจารณาค่า Valuation ของตลาดหุ้น ยังมีความน่าสนใจเพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) อยู่ที่ประมาณ 4.7 เท่า ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 เท่า ดังนั้น ผมมองว่า หากตัดประเด็นเรื่องความกังวลกับปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจนออก และพิจารณาในแง่มุมของมูลค่าหุ้นของตลาด ระดับดัชนีในกรอบ 1,300 จุด เหมาะสำหรับการทยอยเข้าลงทุน

ตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยรวมผมให้น้ำหนักในประเด็นของความไม่มั่นใจกับเหตุการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน แต่โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจพิจารณาเป็นรายประเทศยังถือว่าดีอยู่ เริ่มต้นจากสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐยังส่งสัญญาณถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ด้านยูโรโซน สถานการณ์ปัญหาเรื่องหนี้ของประเทศกรีซก็คลี่คลาย เพียงแต่ต้องปฎิบัติตามข้อตกลงกับเจ้าหนี้ ด้านญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น มีเพียงประเทศจีนที่ยังสร้างความกังวลกับนักลงทุน ซึ่งหากวิเคราะห์ย้อนหลัง ทางการจีนเลือกใช้มาตรการรุนแรงแบบฉับพลัน ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆในประเทศ ส่งผลกระทบให้มีแรงเทขายทำกำไรมาตลอด และลุกลามไปถึงการขายทำกำไรข้ามตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างเช่นในปัจจุบัน

สำหรับคำแนะนำในการปรับสัดส่วนการลงทุน ประมาณ 50-60% ของพอร์ตการลงทุนแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้  และกระจายการลงทุนไปยังกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนประมาณ 20-30% เพราะยังมีความโดดเด่นด้านการจ่ายเงินปันผล และเป็นสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ หากดัชนีมีการเคลื่อนไหวในกรอบที่ต่ำกว่า 1,350 จุด สำหรับนักลงทุนระยะยาวแนะนำให้ทยอยเข้าสะสม โดยหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กลุ่มพลังงาน ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ในช่วงนี้ ผมแนะนำให้ติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างต่อเนื่องและเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง

•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 02-659-8888 ต่อ 1 ครับ

•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”