posttoday

มุมมอง “ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร” ต่อทิศทางเศรษฐกิจ

28 สิงหาคม 2558

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา   บริษัทหลักทรัพย์จัดกการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาพิเศษ ให้กับลูกค้าภายใต้งาน  KTAM Hi  Tea- Exclusive Talk  โดยบริษัทได้รับเกียรติจาก ดร.วีรพงษ์  รามางกูร อดีต รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ  “Second Half of 2015 Economic Outlook” ซึ่งท่านได้แสดงมุมมองที่น่าสนใจไว้หลายด้านด้วยกัน ผมจึงขอมาสรุปมุมมองสำคัญๆ ของท่าน ณ ที่นี้ครับ

ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ท่านแสดงความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจหลายประเทศในฝั่งของสหรัฐฯ การค้นพบ Shale Gas และ Shale Oil นับเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงลงมาเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ บ้าง แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่าปรับตัวดีขึ้นส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นคงไม่กระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากนัก เพราะตลาดได้รับข่าวไปแล้ว และที่ผ่านมาได้ปรับตัวลงมามากแล้วส่วนในด้านยุโรป ท่านยังคงเป็นกังวลต่อปัญหาโครงสร้างของการรวมประเทศต่างๆ มาใช้เงินสกุลเดียวกัน ทั้งที่มีความแตกต่างกันด้านความสามารถในการแข่งขันและวัฒนธรรมและวิกฤติกรีซที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงปัญหาดังกล่าว อีกทั้งการแก้ไขวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นที่ใช้การลดการใช้จ่ายภาครัฐแทนที่จะเป็นการเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลับยิ่งมีผลลบเศรษฐกิจมากขึ้นโดยท่านมองว่าการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างนั้นยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

สำหรับญี่ปุ่น อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้กระจายการผลิตไปยังต่างประเทศมากแล้ว จึงอาจไม่น่ากังวล แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีผลประโยชน์มากนัก

ในด้านเศรษฐกิจเอเซียที่หลายคนคาดหวังว่าจะฟื้นตัวตามสหรัฐฯ กลับไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ทำให้เอเซียไม่ได้ประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของสหรัฐฯ เท่าใดนัก ขณะที่ท่านมองว่าจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เพราะความสามารถในการแข่งขันของจีนลดลงไปมาก จากที่เศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ความพยายามในการผลักดันอุปสงค์ในประเทศก็ไม่ได้ผลมากนัก และการที่จีนเข้ามาไปแทรกแซงตลาดหุ้นและเศรษฐกิจนั้น อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะ “ไม่มีอะไรฝืนอำนาจของกลไกตลาดได้”

ในด้านเศรษฐกิจของไทยเองท่านมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ลักษณะการฟื้นตัวนั้นคงไม่ใช่รูปตัว “V” แต่น่าจะเป็นในลักษณะรูปตัว “U” เสียมากกว่า แต่ท่านเองก็ระบุว่าคงไม่ใช่ตัว “L” ทั้งนี้ ท่านแสดงความเป็นห่วงต่อภาคการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อมีทีมเศรษฐกิจใหม่เข้ามาแต่ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ท่านกังวลว่าเครื่องจักรอุปกรณ์ของไทยในปัจจุบันค่อนข้างล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากประเทศไทยขาดการลงทุนมาระยะหนึ่งแล้วแต่ท่านก็มองว่าภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง-ปรับปรุงเหมือนกัน และภาครัฐก็อาจเข้ามาช่วยสนับสนุนได้เช่น การให้ประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องมุ่งเน้นไปในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานก็อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านไปเลย ดีกว่าการไปเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนสำหรับในเรื่องค่าเงินบาท ท่านมองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเพราะดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่เสถียรภาพด้านการต่างประเทศของไทยในปัจจุบันนี้ดีกว่าสมัยวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” มากเนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง
หากใช้มุมมองดังกล่าวสะท้อนมาที่การลงทุน เราคิดว่าการลงทุนในช่วงจากนี้ไปน่าจะมีความผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดแรงขายอย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมา คงจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่านักลงทุนจะหายตื่นตระหนก แต่ในช่วงเวลานี้เองราคาหุ้นหลายตัวก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ “น่าสนใจ” จึงอาจเป็นโอกาสในการทะยอยสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีแนวโน้มการเติบโตที่มั่นคงได้ครับ