posttoday

เมื่อตลาดหุ้นจีนถูกประณาม

12 สิงหาคม 2558

โดย...ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย...ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ดัชนีราคาหุ้นตลาดจีน (CSI300) ได้ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 5,380 จุด เหลือประมาณ 3,800 จุด หรือลดลงประมาณ 30% ภายในเวลา 1 เดือน สร้างความตื่นตระหนกอย่างมากแก่นักลงทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง China’s Public Security Ministry และ China Securities Regulatory Commission ซึ่งเป็นผู้คุ้มกฎตลาดหุ้นจีน

มาตรการจากทางการจีนที่พยายามสกัดการร่วงลงของราคาหุ้น เช่น การห้าม Short sell การสนับสนุนให้กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าซื้อหุ้น การหยุดพักการนำหุ้นเข้าตลาด (IPO) ชั่วคราว  การตั้งกองทุนพยุงหุ้น และการห้ามผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนเกิน 5% ขายหุ้นออก ได้ถูกประณามจากนักลงทุน และสื่อมวลชนในประเทศพัฒนาแล้ว ว่าเป็นการทำลายตลาดจีน โดยผู้คุ้มกฎของจีนเอง

การประณามนี้ มีทั้งท่าทีดูถูกดูแคลนว่าคงมีเพียงผู้คุ้มกฎจีนเท่านั้น ที่สามารถออกมาตรการที่แปลกประหลาดนี้ได้ โดยผู้คุ้มกฎในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ทำ ผู้คุ้มกฎจีนถูกกล่าวหาว่าเข้าแทรกแซงจนตลาดไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ ข้อแนะนำจากผู้คุ้มกฎในประเทศพัฒนาแล้ว คือ ควรปล่อยให้ฟองสบู่มันแตกจนถึงที่สุด แล้วตลาดก็จะปรับตัวกลับมาทำหน้าที่ได้แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนเดิม

ในมุมมองของประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นจะทำหน้าที่บอกนักลงทุนว่า กิจการใดควรลงทุน และไม่ควรลงทุน โดยดูจากราคาหุ้น และการขึ้นลงของมัน ราคาหุ้นที่สูง แปลว่ากิจการนั้นสามารถระดมทุนได้ โดยมีต้นทุนต่ำขายหุ้นเพียงไม่กี่หุ้นก็ได้เงินทุนมาลงทุนตั้งมาก ผิดกับกิจการที่ราคาหุ้นต่ำ ซึ่งต้องออกหุ้นมาขายจำนวนมาก จึงจะได้เงินทุนจำนวนเดียวกัน

ผู้คุ้มกฎตลาดหุ้นโดยทั่วไป มีหน้าที่ส่งเสริมกลไกตลาดให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยป้องกันไม่ให้สิ่งขัดขวางกลไกตลาดเกิดขึ้น หรือกำจัดมันเสีย เช่น การปั่นราคาหุ้น การใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบนักลงทุน และการสร้างข่าวสารข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกิจการ

“แต่ผู้คุ้มกฎในประเทศกำลังพัฒนา มักจะต้องทำหน้าที่มากกว่าผู้คุ้มกฎในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากปัองกันและขจัดสิ่งขัดขวางกลไกตลาดแล้ว ยังต้องทำการพัฒนาตลาดไปด้วย”

โครงสร้างของตลาดหุ้นจีนในปัจจุบัน มีบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมดประมาณ 258 ล้านบัญชี หากประเมินสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อย โดยใช้ปริมาณการซื้อขาย พบว่ามีสัดส่วนมากกว่า 80% ส่วนนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศมีไม่มาก ซึ่งโครงสร้างตลาดที่มีรายย่อยจำนวนมากนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ถูกอ้างอิงว่าทำให้ตลาดหุ้นจีนง่ายแก่การเกิดฟองสบู่และการเกิดฟองสบู่แตก เนื่องจาก  ความไม่เท่าเทียมของข่าวสารข้อมูล และความสามารถในการลงทุน (เล่นหุ้น) ที่มีน้อยโดยธรรมชาติ ผู้คุ้มกฎจีนคงต้องพัฒนาให้เกิดนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น

ในมุมมองของผู้คุ้มกฎที่ต้องพัฒนาตลาดไปด้วยนั้น สิ่งใหม่ๆ ที่สร้างขึ้น และทำงานไม่ดี และก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตผู้คนก็ไม่เห็นแปลกที่จะหยุดแก้ไข-ซ่อมแซม ตลาดหุ้นจีนไม่สามารถใช้กลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากรเพราะมีราคาฟองสบู่หรือผิดปกติอย่างมาก ก็หยุดและซ่อมแซมก่อน ดีกว่าปล่อยให้ตลาดหุ้นไปทำร้ายนักลงทุนและกิจการโดยผู้คุ้มกฎไม่ทำอะไร ผู้คุ้มกฎในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งไม่ต้องพัฒนาตลาดด้วยตนเองย่อมจะไม่เข้าใจ

การมีผู้คุ้มกฎในตลาดหุ้นก็เพื่อแทรกแซงตลาดไม่ให้ความผิดปกติเกิดขึ้นในการทำงานของกลไกตลาด ผู้คุ้มกฎในประเทศพัฒนาแล้วก็แทรกแซงกลไกตลาดด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลไม่ให้กลไกราคาทำงานตามปกติ เช่น การทำ QE จำนวนมหาศาลในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป การเข้าอุ้มสถาบันการเงิน และกิจการใหญ่ๆ ในช่วงวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ การใช้ยาแรงโดยเฉพาะการห้ามซื้อขายหุ้นหลายตัวเป็นเวลานานในตลาดหุ้นจีน การห้ามทำ Short sell ใด ๆ ทั้งสิ้น อาจจะดูแปลกสำหรับผู้คุ้มกฎในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่น่าจะดูแปลกเมื่อมองจากบทบาทของผู้คุ้มกฎที่มีหน้าที่ต้องแทรกแซงตลาดเพื่อความสงบสุขของประชาชน

ผมเห็นใจผู้คุ้มกฎจีนครับ