posttoday

วงเงินคุ้มครองจะลดเหลือ 25 ล้านบาทแล้ว ออมอะไรดี

08 สิงหาคม 2558

ข่าวการปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยว่าจะโตไม่เกิน 3% และข่าวตลาดหุ้นกับทองคำที่มีแนวโน้มลงต่อเนื่อง...

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ข่าวการปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยว่าจะโตไม่เกิน 3% และข่าวตลาดหุ้นกับทองคำที่มีแนวโน้มลงต่อเนื่อง (แม้ว่าจะมีสลับขึ้นบ้างบางวัน) ทำให้หลายคนอาจมองข้ามเรื่องหนึ่งไปก็คือ วันที่ 11 สิงหาคมนี้ วงเงินคุ้มครองเงินฝากของแต่ละคนในแต่ละแบงค์ก็จะปรับลดลงจาก 50 ล้านบาท/คน เป็น 25 ล้านบาท/คนแล้ว อาจเพราะเริ่มเคยชินกับข่าวนี้เลยไม่ตื่นเต้น หรือ อาจเพราะตอนนี้ก็ไม่ได้ฝากแบงค์อยู่แล้วก็เป็นไปได้

วงเงินคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 ตามภาพประกอบ

ผู้ฝากที่มีเงินฝากจำนวนเกินวงเงินจ่ายคืนดังกล่าว จะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการตอนที่กฎหมายคุ้มครองเงินฝากเริ่มจะประกาศในปี 2555 ธนาคารเกียรตินาคินที่ผมเคยทำงานได้ลองทำวิจัยเล็กๆสอบถามลูกค้าของธนาคารว่า หากกฎหมายคุ้มครองเงินฝากบังคับใช้จริงๆ จะบริหารเงินออมของตนเองอย่างไร โดยเรามีทางเลือกให้ลูกค้าเลือก 4 ทางเลือก คือ

1.กระจายเงินฝากไปหลายๆแบงค์ตามจำนวนทื่ได้รับการคุ้มครอง

2.เพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น กองทุนรวม

3.ฝากเงินในแบงค์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง (ทำนองรักเดียวใจเดียว)

4.ย้ายเงินไปแบงค์ใหญ่

ก่อนที่จะรู้ว่าตอนนั้นลูกค้าเกียรตินาคินส่วนใหญ่เลือกข้อไหน ท่านผู้อ่านล่ะครับเลือกข้อไหน

ปรากฏว่าลูกค้าส่วนใหญ่เลือก กระจายเงินฝากไปหลายๆแบงค์ตามจำนวนทื่ได้รับการคุ้มครอง กับเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น กองทุนรวม เป็นต้น ในสัดส่วนที่พอๆกัน

เราจึงอาจสรุปได้ว่า ด้วยเหตุผลที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และ ผลของกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ก็เลยทำให้คนไทยเริ่มมองช่องทางการออมอื่นนอกจากฝากธนาคารมากขึ้น สิ่งที่สะท้อนให้เห็น ก็คือ โครงสร้างการออมของไทยเปลี่ยนไปจากอดีตช่วงก่อนวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งที่สัดส่วนเงินออมของประชาชนจะอยู่ในรูปเงินฝากธนาคารกว่า 85% และจากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการออมเพื่อเกษียณมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน RMF, LTF และประกันบำนาญ ส่งผลให้สัดส่วนการออมของประชาชนในรูปแบบเงินฝากธนาคารลดลงมาอยู่ในระดับราวร้อยละ 50 ในปัจจุบัน

แล้วเรามาดูกันนะครับว่าสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เอาเงินออมไปทำอะไร ข้อมูลที่ผมเคยเก็บเอาไว้ (ขออภัยที่จำแหล่งข้อมูลไม่ได้) บอกว่า ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนเงินออม ดังนี้

•ออมในเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ระยะสั้นในสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 30

•ลงทุนในตราสารทุนเช่น หุ้น เพื่อโอกาสของการสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในสัดส่วนราวร้อยละ 20

•ออมในประกันชีวิตเพื่อบริหารความเสี่ยงและเป็นการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งให้ลูกหลาน ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 30

ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยสวยขณะนี้  เราอาจจะมองว่าการลงทุนในตราสารทุนมีความเสี่ยง หรือ การซื้อประกันชีวิตผลตอบแทนต่ำ แต่ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจก็เป็นความเสี่ยงแค่ช่วงสั้นๆ แต่ความเสี่ยงที่เราต้องเจอต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ทำให้เงินเราด้อยค่าลงเรื่อยๆ หรือ ความเสี่ยงด้านเกษียณอายุที่ตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว (ที่จริงเป็นมา 10 ปีแล้ว) และความเสี่ยงด้านสุขภาพที่คนไทยเป็นโรคด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯ ความเสี่ยงเหล่านี้ไม่สามารถชนะได้ด้วยการฝากเงินอย่างเดียวแน่นอน ต้องพ่วงด้วยการลงทุนกับการบริหารความเสี่ยงอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ทำไปก่อนหน้าเรา วันนี้เราจึงควรเริ่มมองความเสี่ยงระยะยาวๆมากกว่าการมองความเสี่ยงระยะใกล้ๆ เพราะความเสี่ยงระยะยาวน่ากลัวกว่ามาก และหากไม่เริ่มป้องกันตั้งแต่วันนี้ วิกฤติที่เราเจอในตอนนั้นอาจร้ายแรงกว่าตอนนี้หลายเท่าครับ

 


ภาพ - sports.sina.com.cn/