posttoday

ปัจจัยลบรุมเร้าหุ้นไทย

27 กรกฎาคม 2558

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต จำกัด (มหาชน)

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต จำกัด (มหาชน)

2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย ค่าเงินบาท สินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลงทำสถิติใหม่ๆ  ท่ามกลางปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งจากกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ภายในปีนี้ ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและไทย ที่นำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)จำนวนมาก 

เงินบาทอ่อนค่าสู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปีที่ 34.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ แนวโน้มการอ่อนตัวของค่าเงินบาทกดดันผู้ลงทุนต่างชาติให้ลดการถือครองหุ้นไทย โดยขายสุทธิอีก 24,649 ล้านบาท ในช่วง 1-24 ก.ค.58 ดันยอดขายสุทธิปีนี้เป็น 40,316 ล้านบาท 

ต่างชาติเริ่มขายหุ้นไทยหนักๆ หลังเฟดส่งสัญญาณลด QE ตั้งแต่ 22 พ.ค.56 ทำให้ยอดขายสุทธิสะสมสูงราว 4 แสนล้านบาท จนทำให้การถือครองหุ้นไทยของต่างชาติลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี 

ในช่วงเดียวกันต่างชาติได้ขายสุทธิตราสารหนี้ไทยในจำนวนใกล้เคียงกัน กระแสเงินทุนต่างชาติจึงไหลออกไปแล้วร่วม 8 แสนล้านบาท ในช่วง 26 เดือนที่ผ่านมา แรงขายจากจุดนี้จึงไม่น่าจะเหลือไม่มาก

นอกจากนั้น ธปท.ยังคงมีเครื่องมือดูแลสภาพคล่องทางการเงินในประเทศผ่านการปรับเปลี่ยนการถือครองพันธบัตรธปท.ที่มียอดคงค้างอยู่ราว 2.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของ GDP สภาพคล่องในประเทศจึงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเงินทุนไหลออก

ดัชนีบลูมเบอร์กคอมมูนิตี้ ที่ประกอบด้วยวัสดุพื้นฐานแตะจุดต่ำสุดในรอบ 13 ปี ท่ามกลางแรงกดดันจากดออลลาร์แข็งค่า และความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน     

เมื่อวันศุกร์ มาร์กิตรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนก.ค.ลดลงแตะ 48.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงแรง พลอยฉุดหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีบ้านเรา ซึ่งล้วนเป็นหุ้นขนาดใหญ่ จึงพลอยถ่วงดัชนีหุ้นไทยลงด้วย 

ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำจะถูกกระทบมากกว่ากลุ่มกลางน้ำและปลายน้ำ  

การที่น้ำมันดิบเบรนท์ร่วงสู่จุดต่ำในรอบ 4 เดือนที่ 54.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และโน้มเคลื่อนไหวเฉลี่ยต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สร้างแรงกดดันต่อ PTTEP และพลอยฉุด PTT

ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี จากที่มีกำไรจากสต็อกสินค้าคงคลังในช่วงไตรมาส 2 อาจพลิกกลับเป็นขาดทุนจากสต็อกอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 แถมอัตรากำไรโน้มลดลงจากไตรมาส 2 ไม่ว่าจะเป็นค่าการกลั่นน้ำมันหรือสเปดปิโตรเคมี สัญญาณทางเทคนิคระยะสั้นของหุ้นเหล่านี้ยังเป็นลบ แม้ราคาหุ้นจะลงมาเร็ว แต่ยังสามารถต่อรองราคา

สัปดาห์นี้ ตลาดรอจับสัญญาณจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด จากผลการประชุม FOMC (28-29 ก.ค.) ข้อมูลเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย. จากธปท. นอกจากนั้น บจ.ในตลาดหุ้นจะรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งจะส่งสัญญาณแนวโน้มผลดำเนินงานอีกด้วย 

ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยแผ่วลง และมีแนวโน้มยืดเยื้อข้ามปี จึงมีความเสี่ยงด้านลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัททั่วไป ซึ่งจะตามมาด้วยการปรับลดประมาณการกำไรและมูลค่าพื้นฐานรายหุ้นอีกระลอก

ตลาดหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบ 13 เดือนเศษที่ 1438 จุด ซึมซับปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว หุ้นจำนวนมากเริ่มเข้าเขตถูกขายมากเกินไปแล้ว ความเสี่ยงด้านล่างไม่ลึก โดยมีแนวรับอยู่แถว 1430, 1410 จุด สามารถเลือกลงทุนรายหุ้นได้

หุ้นที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มรับเหมาฯ (CK, STEC, SEAFCO) มือถือที่ปันผลสูง (ADVANC INTUCH) ท่องเที่ยว (AOT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (TRUEIF, BTSGIF) เป็นต้น 

กลุ่มรับเหมาฯ ส่วนใหญ่มีงานในมือเพียงพอที่ดำเนินธุรกิจได้สบายๆ อีก 2 ปี ซึ่งนานพอที่จะรอการประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อาจล่าช้าบ้าง

กลุ่มมือถือได้ประโยชน์จากการประมูลคลื่น 4G ที่มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ ADVANC INTUCH จ่อประกาศปันผลงวดกลางปี ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย และต้องการเงินปันผลสม่ำเสมอ น่าพิจารณากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทดแทนเงินฝากหรือหุ้นกู้บางส่วน

สำหรับผู้ที่ต้องซื้อ LTF RMF ปีนี้ผ่านมาเกือบ 7 เดือนแล้ว แนะทยอยลงทุนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของที่ต้องซื้อครับ 

พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ