posttoday

ตลาดทุนและความเหลื่อมล้ำของรายได้

14 กรกฎาคม 2558

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

ผมจำได้ว่าสมัยผมเป็นเด็ก ธนาคารออมสินเปิดโอกาสให้ผมได้รู้จักการฝากเงินธนาคารเป็นครั้งแรก ผมได้เรียนรู้ว่าการฝากเงินกับธนาคารไม่ต้องมีเงินมากและธนาคารมีดอกเบี้ยให้ด้วย และผมก็อดตื่นเต้นดีใจไม่ได้ทุกครั้งที่ได้เห็นดอกเบี้ยในสมุดเงินฝากของผมงอกเงย

การที่ทางการตั้งธนาคารออมสินขึ้นมา ทำให้ผมเมื่อยังเป็นเด็ก มีโอกาสได้เข้าถึงระบบการเงิน และเรียนรู้ที่จะให้เงินทำงานโดยไม่ยาก

ผู้หลักผู้ใหญ่ในอดีตได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างระบบการเงินให้คนด้อยโอกาสอย่างผม ซึ่งทั้งจนและเป็นเด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ และเข้าถึงระบบธนาคาร ซึ่งเป็นระบบการเงินหลักในเวลานั้น

มาในสมัยปัจจุบัน ระบบการเงินของเราก้าวหน้าไปกว่าสมัยผมเป็นเด็กมาก เรามีระบบตลาดทุนซึ่งเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่การตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2518 เรามีเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ที่สามารถให้เงินทำงานได้มากกว่า และดีกว่า “เงินฝากธนาคาร” ที่ผมรู้จักสมัยเป็นเด็ก เรามีระบบการเงินที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศที่สร้างโอกาสให้เงินทำงานได้อย่างมหาศาล

ผมเชื่อว่าถ้าผมเป็นเด็ก และยากจนในสมัยนี้ ผมก็ยังคงไปฝากเงินธนาคารออมสินได้เหมือนเดิม แต่ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะมีโอกาสที่จะซื้อกองทุนรวม ซื้อหุ้น หรือเข้าถึงระบบตลาดทุนได้ง่ายดายเหมือนการเข้าถึงระบบธนาคารหรือไม่

ในปัจจุบัน ถ้าผมจะเปิดบัญชีธนาคาร ผมมีบัตรประจำตัวประชาชน และเงิน 10 บาท ก็รับดอกเบี้ยธนาคารได้ แต่ถ้าผมจะให้เงินทำงานโดยซื้อกองทุนรวมผมต้องมีเงินไม่น้อยกว่า 1,000 บาท และถ้าเป็นกองทุนหุ้น ผมก็มักจะต้องมีเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ในการลงทุน

และถ้าผมจะซื้อหุ้นเพื่อลงทุน ผมต้องมีหลักฐานทางการเงินมากพอที่จะเปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ เนื่องจาก วงเงินซื้อขายหุ้นโดยทั่วไปมักจะไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท หลักฐานทางการเงินของผมก็จะต้องไม่น้อยไปกว่ากัน

จากตัวเลขข้างต้นก็ดูเหมือนว่า ถ้าผมมีรายได้น้อย (ยากจน) ผมจะมีโอกาสให้เงินทำงานแทนผมได้น้อยกว่าคนมีรายได้มาก (คนรวย) ถ้าเรามองระบบตลาดทุนเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบหนึ่ง ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยก็ควรมีสิทธิได้ใช้ประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน

ในอดีตที่ผ่านมาทางการได้พยายามที่จะให้ระบบธนาคารซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินหลักของประเทศได้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ผ่านนโยบายรัฐในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสร้างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (ธ.ออมสิน, ธ.ก.ส., ธ.อาคารสงเคราะห์, และ ธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้า) การสนับสนุนธนาคารรัฐและเอกชนให้เปิดสาขาในชนบท การผลักดันระบบ ATM ร่วม เป็นต้น

ผมคิดว่า ทางการก็ควรจะทำให้ระบบตลาดทุนได้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทำนองเดียวกัน ในทางปฏิบัติ ผมเห็นว่าอย่างน้อยทางการควรจะมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและในภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงตลาดทุน โดย

•ลดมูลค่าขั้นต่ำที่ประชาชนจะซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหรือหุ้นลง เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถลงทุนได้โดยสะดวก ทั้งนี้ อาจรวมถึงการที่ทางการอาจต้องทบทวนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นต้นทุนแก่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในการลดมูลค่าขั้นต่ำลงด้วย
•ให้การศึกษาเรื่องตลาดเงินตลาดทุนแก่เยาวชน ตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมศึกษา
•ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและในภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และระบบการซื้อขายลงทุน
•ผลักดันหรือสนับสนุนให้มีการลดหรือยกเลิกค่าใช้จ่ายการโอนเงินที่ธนาคารคิดกับผู้โอนเงิน เพื่อการลงทุนในกองทุนรวม และหลักทรัพย์อื่น ๆ โดยเฉพาะระหว่างภูมิภาคและศูนย์กลางการเงินในกรุงเทพฯ

ถ้าคนจนและคนรวย คนชนบทและคนเมือง มีโอกาสให้เงินทำงานได้เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็จะไม่มากขึ้น ตลาดทุนก็จะสามารถเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว