posttoday

การลงทุนใน Infrastructure Fund ต้องดูอะไร

16 มิถุนายน 2558

โดย...ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย...ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

Infrastructure fund ถือเป็น Asset Class หรือกลุ่มหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จะทวีความสำคัญขึ้นอย่างมากสำหรับนักลทุนไทยในทศวรรษนับจากนี้ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนสถาบัน และผมคิดว่า หากทางการจะส่งเสริมอย่างจริงจังให้นักลงทุนรายย่อย มีโอกาสร่วมด้วยก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย

ในทางสากล กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund) หมายถึง กองทุนทั้งประเภทเอกชนล้วน ๆ (Private infrastructure fund) หรือประเภทเอกชนร่วมกับภาครัฐ (Public private partnership) ที่ลงทุนในภาคเศรษฐกิจประเภทโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1.ขนส่ง (Transportation) ซึ่งหมายรวมถึง ถนน อุโมงค์ สะพาน สนามบิน ท่าเรือ รถไฟฟ้า และ รถใต้ดิน

2.น้ำและขยะ (Water and waste) ซึ่งหมายถึง การบริหารจัดการน้ำและขยะ

3.พลังงาน (Energy) ที่เน้นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คลังเก็บก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้าจากลม-แสงอาทิตย์ และระบบสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น

4.โทรคมนาคม (Communication) เช่น โทรศัพท์ วิทยุ และเครือข่ายอินเทอร์เนต

5.โครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล บ้านอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย การป้องกันประเทศ และเรือนจำ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ทางการได้วางกรอบไว้แคบกว่าสากล โดยมีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ ระบบขนส่งทางราง ไฟฟ้า ประปา ถนน ท่าอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม และพลังงานทางเลือก โดยเรียกกลุ่มหลักทรัพย์นี้ว่า “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” และได้วางกติกาไว้ให้เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายย่อยผ่านการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว โดยผู้ตั้งกองทุนสามารถออกแบบให้นักลงทุนรายย่อยมีความเสี่ยงไม่มาก และสามารถไถ่ถอนได้เมื่อนักลงทุนมีความจำเป็น ซึ่งนับว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยพอควร

แล้วนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยแต่มาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีความเสี่ยงอะไรที่จะต้องได้รับการดูแลคุ้มครอง? หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าผมเป็นนักลงทุน ผมอยากให้ผู้ออกแบบกองทุนดูแลความเสี่ยงอะไรแก่ผมบ้าง?

เนื่องจาก กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีลักษณะพิเศษคือ 1. มีความเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง 2. เป็นการลงทุนระยะยาวถึงยาวมาก 3. มีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ การพิจารณาลงทุนจึงต้องคำนึงความเสี่ยงอันเนื่องมากจากลักษณะเฉพาะดังกล่าวเป็นพิเศษ ดังนี้

อันดับแรก คือ ความเสี่ยงจากสถานะการพัฒนาโครงการ (Stage of development) ถ้าโครงการที่มาเสนอขาย ยังอยู่ในสถานะแค่แนวคิด (ในภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็นวุ้นอยู่) ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะไม่รู้เลยว่า 1. ในทางวิศวกรรมและทางกฎหมายบ้านเมืองจะทำได้หรือไม่ 2. จะออกแบบก่อสร้างได้หรือไม่อย่างไร 3. จะมีอุปสรรคช่วงก่อสร้างหรือไม่  4. สร้างแล้วจะทำงานได้หรือไม่ และ 5. มีคนมาใช้หรือไม่ (ในทางการเงินอาจเรียกว่า อยู่ในสถานะ Private Equity หรือ Greenfield investment) แต่ถ้าโครงการอยู่ในสถานะที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว มีผู้มาใช้งานแล้ว และมีรายได้จากโครงการแล้ว ความเสี่ยง ข้อ 1 ถึง 5 ข้างต้นจะลดหรือหมดไป (สถานะนี้เรียกว่า Brownfield investment)

อันดับสอง คือ ความเสี่ยงจากสถานะทางการเงินของโครงการ โดยเฉพาะสถานะการกู้ยืมของโครงการ (Leverage) ถ้าโครงการที่มาเสนอขายหน่วยลงทุนแก้เรามีการกู้ยืมเงินมาดำเนินการโครงการมาก ความคล่องตัวในการบริหารโครงการจะน้อยซึ่งทำให้การลงทุนในหน่วยลงทุนนั้น ๆ มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ถ้าโครงการกู้น้อยความเสี่ยงก็จะต่ำลง

อันดับสาม ความเสี่ยงด้านการตลาดหรือด้านอุปสงค์ (Demand) ถ้าความต้องการของลูกค้าที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้ลดลง หรือหายไปได้ง่าย ความเสี่ยงก็จะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่จะมีอายุโครงการยาวนานมากกว่า 10 ขึ้นไป โอกาสที่โครงการที่เป็นคู่แข่งในอนาคต ทั้งจากภาคเอกชน หรือภาครัฐ จะมาแย่งลูกค้า ย่อมมีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ที่อาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปได้

อันดับสี่ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ถ้าไม่มีการดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะในโครงการที่นำมาเสนอขายหน่วยลงทุนก็จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะอายุโครงการมีธรรมชาติที่ยาวถึงยาวมาก

อันดับ 5 ความเสี่ยงด้านการเมือง (Political risk) ซึ่งหมายรวมถึง การยกเลิกสัญญาโครงการ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษี ความไม่สงบหรือความรุนแรงจากการแย่งชิงอำนาจรัฐ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อกระแสรายได้ของโครงการที่ไปลงทุน โครงการโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับภาครัฐไม่มากก็น้อย ความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาครัฐจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก (ความเสี่ยงด้านการเมืองจะมีความสำคัญสูงมาก หากโครงการที่เราลงทุน หรือหน่วยลงทุนอยู่ในต่างประเทศ)

นักลงทุนควรต้องพิจารณารายละเอียดของกองทุนว่าได้ควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นอย่างไร และผลตอบแทนคุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่