posttoday

นักลงทุนไทยกับตลาดทุน

20 กุมภาพันธ์ 2558

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

โดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด


สวัสดีครับ ผม ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ได้รับเกียรติ จาก ทาง หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ เพื่อมาเขียนคอลัมน์ ครบเครื่องเรื่องลงทุน กับ บล.เอเชีย เวลท์ โดยในฉบับแรกผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านได้มาทบทวนถึงแนวคิดในการพัฒนาตลาดทุนไทยและหนทางที่จะสร้างตลาดทุนไทยให้เป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านมากที่สุด เพราะตลาดทุนไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนของคนไทย

ผมจำได้ว่าในปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง คนไทยทั้งประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง แนวคิดเรื่องการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นระบบสถาบันการเงินสำรอง ทดแทนระบบธนาคารที่ล่มสลายในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยเชื่อว่า หากในเวลานั้น ตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งภาครัฐและเอกชนคงไม่ได้รับความเสียหายหนักหนาสาหัสดังเช่นที่เกิดขึ้น เพราะยังคงระดมทุนและลงทุนผ่านตลาดทุนได้ เมื่อระบบธนาคารทั้งระบบล่มสลายลง

วันเวลาผ่านมา 17 ปี ตลาดทุนไทยยังพัฒนาไปไม่ไกลจากเดิมนัก ทั้งนี้ดูจากการเข้าถึงตลาดทุนของคนไทยซึ่งหมายถึง จำนวนและสัดส่วนของคนไทยที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนในตลาดทุน โดยถ้าคนไทยจำนวนมากเข้าถึงตลาดทุน คนไทยเหล่านั้นก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าการฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว และในขณะเดียวกัน ธุรกิจก็สามารถระดมทุนได้มากเพราะเงินทุนมาจากคนไทยจำนวนมากที่ลงทุนนั่นเอง

ณ สิ้นปี 2557 มีคนไทยที่เข้าถึงตลาดทุนในความหมายที่กล่าวข้างต้นประมาณ 7 ล้านราย โดยแบ่งเป็น ผู้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายจริง (Active account) ประมาณ 0.34 ล้านราย ผู้เปิดบัญชีกองทุนรวมประมาณ 3.8 ล้านราย สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประมาณ 2.8 ล้านราย และกองทุนส่วนบุคคลอีกประมาณ 3,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของประชากรไทย ในขณะที่คนไทยมีบัญชีเงินฝากธนาคาร ณ สิ้นปี 2556 จำนวน 84.5 ล้านบัญชี หรือประมาณร้อยละ 130 ของประชากรไทย ซี่งมากกว่าสัดส่วนคนไทยที่เข้าถึงตลาดทุนมากมาย ตัวเลขดังกล่าวอาจมีข้อโต้แย้งได้บ้างในทางวิชาการ แต่ในภาพรวมก็เพียงพอที่จะสรุปได้ค่อนข้างชัดเจนว่าคนไทยเข้าถึงตลาดทุนได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการเข้าถึงระบบธนาคาร


จำนวนคนไทยที่เข้าถึงตลาดทุนไทย ณ สิ้นปี 2557
ประเภทบัญชี
                                                                    จำนวนคน (ราย)
เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายจริง (Active account)          340,000
ผู้เปิดบัญชีกองทุนรวม                                                          3,800,000
สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ                                                2,800,000
กองทุนส่วนบุคคล                                                               3,000
รวม                                                                                  6,943,000
หมายเหตุ: ตัวเลขประมาณการ
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน   

ทั้งนี้ ได้มีความพยายามของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะให้คนไทยได้เข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การส่งเสริมให้เกิดนักลงทุนสถาบันมากขึ้น” ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะนักลงทุนสถาบันทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการลงทุนแทนประชาชนรายบุคคลจำนวนมาก และรูปแบบนักลงทุนสถาบันมีศักยภาพสูงมาก ที่จะเข้าถึงคนไทยเกือบทุกภาคส่วนทุกระดับฐานะการเงิน ตัวอย่างนโยบายที่ทราบกันดี เช่น การส่งเสริมให้เกิดกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ การให้มีกองทุนประกันสังคม  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจและเอกชน  หรือแม้แต่กองทุนการออมแห่งชาติซึ่งใกล้จะสำเร็จ

ในปี 2558 นี้ มีโอกาสที่ตลาดทุนไทยจะพัฒนาไปได้อีกขั้นหนึ่ง เมื่อรัฐบาลประกาศจะลงทุนขนานใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และได้มีแนวคิดที่จะระดมทุนผ่านตลาดทุนในรูปกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund) ขนาดการลงทุนถึง 3 ล้านล้านบาทใน 8 ปี ซึ่งน่าจะมีศักยภาพที่ทำให้ตลาดทุนไทยขยายตัวได้อย่างมาก ในเรื่องดังกล่าวนี้ ผมอยากเห็นทางการได้นำเอาเป้าหมายการพัฒนาตลาดทุนไทยมาเป็นเป้าหมายการลงทุนของรัฐด้วยอีกประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากเป้าหมายการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เป็นเป้าหมายหลักของนโยบาย

สิ่งที่เป็นรูปธรรม ก็คือ การออกแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากที่สุด ทั้งในเมืองและชนบททั้งที่มีฐานะดีมากหรือฐานะดีน้อย ตัวอย่างหนึ่งที่รัฐเคยทำได้สำเร็จอย่างมากในอดีต คือ กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง ซึ่งมีขนาดการระดมทุนเบื้องต้น 100,000 ล้านบาท และสามารถเข้าถึงนักลงทุนไทยจำนวนถึง 33,820 คน

ทั้งนี้ กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่งได้ออกแบบให้มีการคุ้มครองเงินต้นและประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการออกแบบให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งรับความเสี่ยงได้น้อยสามารถร่วมลงทุน และรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารได้ ทั้งนี้ หากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสามารถออกแบบให้มีการคุ้มครองเงินต้น และประกันผลตอบแทนด้วยก็จะทำให้สามารถเข้าถึงคนไทยในวงกว้างได้ ซึ่งก็ย่อมหมายถึง การเข้าถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต้องใช้ในการลงทุนอีกด้วย

ผมหวังว่า การออกแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นจะได้คำนึงการเข้าถึงตลาดทุนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของคนไทยส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งก็จะเป็นการใช้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐอย่างเต็มศักยภาพ