posttoday

เราจะแก้ปัญหาสังคมสูงวัยของไทยอย่างไรดี

20 มกราคม 2558

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ข่าวดีมาก่อน: เรามีชีวิตที่ยาวขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน คนในยุโรปจะมีอายุยืนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเหมือนกับในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1900 ประชากรมีอายุเฉลี่ยที่ 46 ปีและในปัจจุบันคู่สามี-ภรรยาที่มีสุขภาพที่ดีและมีอายุ 65 ปี มีแนวโน้มว่าสามีหรือภริยาสามารถมีชีวิตยืนยาวถึง 95 ปี และสำหรับข่าวร้าย: จากอัตราการเพิ่มขึ้นของอายุนี้เราไม่สามารถจะรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการมีอายุที่ยืนขึ้นได้

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่คนอายุ 65 ปีหรือมากกว่ามีจำนวนมากกว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศผู้สูงอายุซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการขอรับสวัสดิการด้านสุขภาพและสวัสดิการระยะยาวมีมากกว่าจำนวนคนทำงานซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จ่ายภาษีเพื่อช่วยสนับสนุนสวัสดิการดังกล่าว ประเทศไทยก็กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ภายในปี ค.ศ.2050 หรืออีก 35 ปีจากนี้ อัตราส่วนระหว่างคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี กับคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเปลี่ยนจาก 90:10 ในปี ค.ศ. 2005 เป็น 70:30 อัตราส่วนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและจะมีผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับสาธารณสุขระดับชาติ นโยบายการเงินสาธารณะและนโยบายระดับชาติอื่นๆ

รัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกนี้จะทำอย่างไรเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากและตามมาด้วยรายจ่ายที่ไม่สามารถจะควบ คุมได้ สำหรับส่วนใหญ่ คำตอบคือ ไม่ได้เตรียมพร้อมมากนัก นอกจากรัฐบาลจะแก้ไขนโยบายงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้นจนคุมไม่อยู่ อาจจะมีระดับที่เทียบเท่ากับตอนช่วง Great Depression หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเราจะทำอะไรได้ น่าเสียดายที่คนส่วนมากยังไม่ยอมรับความเป็นจริง และยังเชื่อว่ารัฐบาลจะหาเงินมาสมทบได้ ประชาชนทั่วไปมักไม่เข้าใจว่าทำไมต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐในการคงการอยู่รอดทางการเงินของประเทศ รัฐบาลส่วนใหญ่มีทางเลือกไม่มากนัก โดยอาจต้องปรับงบประมาณให้สมดุลและขยายอายุเกษียณให้นานขึ้น แต่อย่างที่เราทราบกันดี วิธีนี้ง่ายที่จะพูดมากกว่าทำ ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีคนมากกว่าหนึ่งล้านรวมตัวกันเพื่อประท้วงเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนานซึ่งจะทำให้ยืดอายุเกษียณจาก เดิม 60 ปี เป็น 62 ปี

ทางออกของปัญหาดังกล่าวจะต้องมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานระหว่างประเทศ ในการปรับปรุงโครงสร้างของสังคม โดยการสร้างงานและจัดโครงการฝึกอบรมสำหรับคนในช่วงอายุ 60 และ 70 ปี พร้อมกับหางบประมาณสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์เพื่อหาทางรักษาโรคต่างๆ อาทิ Alzheimer ทางเลือกนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก เผอิญผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ให้ความศรัทธานักการเมืองมากนัก โดยเฉพาะนักการเมืองบ้านเรา หนี้สาธารณะในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น อยู่ในระดับที่ควบคุมไม่ได้ อัตราการว่างงานในสหภาพยุโรปสูงกว่าร้อยละ 10 และในสเปนเองมีอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 20 ในกรณีของประเทศไทย งบประมาณรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและครอบครัวนั้นสูงขึ้นถึง 75,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการฉ้อโกงและการกระทำละเมิดต่างๆ ในขั้นตอนการจัดซื้อ

คติของผมคือ “ต้องช่วยเหลือตัวเอง” ผมไม่หวังพึ่งรัฐบาล นายจ้าง หรือลูกชายของผมสำหรับความต้องการหลังจากที่ผมเกษียณ ผมออมเงินอย่างจริงจังเป็นประจำทุกเดือน และลงทุนระยะยาว โดยแบ่งพอร์ทของผมให้มีความหลากหลายระหว่าง หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและนอกประเทศ ผมยังจ่ายเงินให้กับกองทุนประกันสังคมทุกเดือนแต่ผมก็ไม่ได้หวังว่าเงินดังกล่าวจะยังคงอยู่เมื่อผมเกษียณ ถึงแม้ยังมีเหลืออยู่ผมคิดว่าก็คงไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตของผมได้ คุณอาจจะว่าผมมองโลกในแง่ร้ายแต่ผมชอบที่มองโลก “ตามความเป็นจริง” มากกว่า

ในมุมมองของผม รัฐบาลและบริษัทต่างๆ จะต้องมองกลุ่มผู้สูงอายุว่าไม่ได้เป็นภาระรายจ่ายของสังคมแต่เป็นความเชี่ยวชาญของสังคม ที่ผ่านมาผมได้ใช้เวลาเวลาคุยกับพ่อตาและเพื่อนของท่าน ถึงแม้ว่าพวกเขามีอายุในช่วง 70 กว่าปี และมีความสุขกับชีวิตหลังเกษียณ พวกเขาก็ยังมีความตื่นตัว รู้จักใช้เทคโนโลยี (อย่างน้อยสามารถใช้อีเมล์ และเล่นเน็ทได้) และมีประสบการณ์มากมายที่สามารถจะแบ่งปันได้ สิ่งเหล่านี้ล้ำค่ามากในมุมมองของผม เงินสามารถซื้อทุกอย่างแต่ไม่สามารถซื้อประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่ได้สะสมมาตลอดชั่วอายุคน ในอังกฤษได้มีการผ่านกฎหมายห้ามกีดกันผู้สูงอายุในการเรียกใช้บริการ อาทิ เช่ารถยนต์ บัตรเครดิตและเงินกู้ ในปีหน้าอังกฤษจะยกเลิกกฎบังคับให้เกษียณเมื่ออายุครบ 65 ปี ในระยะยาวอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขและไม่ควรจะมีความสำคัญหากคุณมีสุขภาพที่แข็งแรง คนเราไม่ควรจะโดนตีตราจากวันเดือนปีเกิดเพราะว่าคนในช่วงอายุ 60 และ 70 ปี ถือเป็นกลุ่มวัยกลางคนรุ่นใหม่