posttoday

เตือนภัยวัยเนื้อหอม

17 กันยายน 2557

ทุกปีเมื่อเข้าเทศกาลเกษียณจะเกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นจำนวนหนึ่งด้วยเงินที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานหรือเงินตอบแทนการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดเกือบ 40 ปี ขอเรียกวัยนี้ว่า “วัยเนื้อหอม”

โดย...เสาวนีย์ สุวรรณรงค์  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทุกปีเมื่อเข้าเทศกาลเกษียณจะเกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นจำนวนหนึ่งด้วยเงินที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานหรือเงินตอบแทนการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดเกือบ 40 ปี  ขอเรียกวัยนี้ว่า “วัยเนื้อหอม” เพราะจะมีคนมาห้อมล้อม ชักชวนให้ใช้เงินหรือลงทุนหลายรูปแบบ เงินก้อนนี้ ต้องวางแผนการใช้จ่ายและลงทุนอย่างรอบคอบค่ะ ไม่มีใครทราบว่า เราจะมีอายุอยู่เพื่อใช้เงินนี้ยาวหรือสั้นแค่ไหน
สามภัยของวัยเนื้อหอม

1. มิจฉาชีพ มีทั้งแบบแก็งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แจ้งข้อมูลให้ตกใจกลัว เช่น “คุณค้างชำระบัตรเครดิต 5 หมื่นบาท” เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสผ่าน หรือหลอกให้โอนเงินผ่าน ATM
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบชักชวนให้ลงทุนในกองทุนที่ไม่มีจริง อ้างว่าลงทุนในต่างประเทศ เช่น ทองคำ น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน หรือหุ้น เป็นต้น กลโกงประเภทนี้พบเห็นได้ทางเว็บไซต์ หรือ Facebook มักแสดงผลตอบแทนสูงยั่วใจแต่ความเสี่ยงต่ำ หรือไม่เสี่ยงเลย (แบบไม่มีในโลก) เช่น จ่ายผลตอบแทน 5% ต่อเดือนแน่ๆ (ตกปีละ 60%) แต่ไม่มีข้อมูลที่สำคัญอย่างเช่นเอาเงินไปลงทุนอะไร ไม่มีหนังสือชี้ชวน ซึ่งโดยมากไม่ได้นำเงินไปลงทุนจริง เอาเงินที่ได้ส่วนใหญ่ใส่เข้ากระเป๋า แล้วจ่ายบางส่วนให้คืน เหมือนแชร์ลูกโซ่ นำเงินคนใหม่จ่ายคนเก่า พอสายป่านหมด ฝันร้ายก็เกิดขึ้น

คำพูดที่มักทำให้เราใจอ่อนและหลงเชื่อได้ง่ายคือ อ้างว่าญาติหรือคนสนิทเคยลงทุนและได้ผลตอบแทนมาแล้วจริง เช่น “พี่เขยดิฉันลงทุนมาแล้ว 5 งวด ตอนนี้ได้ผลตอบแทนมาแสนบาทแล้ว”

2. คนใกล้ตัวชวนลงขัน เป็นธรรมดาเมื่อมีเวลาว่างและมีเงินก็อยากหาธุรกิจทำแก้เหงา โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นลูกจ้างมาตลอดชีวิต หากศึกษาและวางแผนอย่างดีคงไม่น่ากังวลใจ แต่ถ้าลงทุนเพราะความไว้ใจหรือเกรงใจคนใกล้ตัว ก็น่าห่วง โดยเฉพาะหากใช้เงินก้อนใหญ่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องคิดให้หนักๆ ว่า เงินก้อนนี้มาจากน้ำพักน้ำแรงของเราเกือบทั้งชีวิต ทางที่ดีถ้าถูกชักชวน อย่าตัดสินใจโดยลำพัง หรือเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองมากเกินไป ควรปรึกษาลูกหรือเพื่อนที่ใกล้ชิด เขาอาจเคยได้ยินข่าวหรือมีข้อมูลที่มากกว่า

3. ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เดินเข้าธนาคารหวังฝากเงิน กลายเป็นลงทุนในกองทุนรวมหรือประกันภัย ประกันชีวิตแทน กรณีเช่นนี้คนขายไม่ได้มีเจตนาจะทุจริตต่อเงินของท่าน แต่เขาอาจมีเป้าหรือยอดการขายที่ต้องทำให้ถึง หรือมีความปรารถนาดี แต่ไม่มีเวลาอธิบายให้ท่านเข้าใจก่อน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีขายในธนาคารทุกวันนี้มีความหลากหลาย มีลักษณะ สภาพคล่อง และความเสี่ยงแตกต่างกัน  ทางที่ดีท่านควรตั้งคำถามไว้ก่อน เช่น จะได้ผลตอบแทนอย่างไร มาจากไหน ขายคืนหรือถอนเงินได้บ่อยไหม ค่าธรรมเนียมมีอะไรบ้าง  เก็บหลักฐานรวมถึงแผ่นพับใบปลิวโฆษณาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้ด้วยค่ะ

ความเกรงใจและกลัวเสียหน้าเปิดช่องให้มิจฉาชีพหรือคนฉวยโอกาส เพราะมารยาทคนไทยเราขี้เกรงใจ ใครบอกหรือชวนลงทุนอะไรมักไม่กล้าปฏิเสธหรือสอบถาม กลัวเขาจะหาว่า “เยอะ” แต่เรื่องเงินทองโดยเฉพาะเงินก้อนสำคัญในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านไม่จำเป็นต้องเกรงใจหรือกลัวเสียหน้า หากรู้สึกสงสัยหรือมีคำถาม อย่าปล่อยให้ผ่านไป และถ้าไม่มั่นใจ ขอให้ปฏิเสธ

คาถาป้องกันภัย คือ มีสติ  ไม่โลภ และตรวจสอบข้อมูล หากได้รับการติดต่อจากบุคคลที่ไม่รู้จัก ควรตั้งสติ ไม่โลภอยากได้เงิน อยากรวยเร็ว ที่สำคัญคืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่นเด็ดขาด ส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวของท่านทางโทรศัพท์ และท่านต้องระวังตัวไม่ทำรายการที่ ATM หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติตามคำบอกของผู้อื่น กรณีได้รับการติดต่อจากสถาบันการเงิน และมีข้อสงสัยให้สอบถามกับฝ่ายบริการลูกค้า (Call Center) ของสถาบันการเงินนั้น

สำหรับการถูกชักชวนให้ลงทุนในกองทุนรวมหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ท่านต้องเช็คก่อนลงทุนว่าเป็นธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่ โดยตรวจสอบได้ที่ www.sec.or.th มองหากล่อง “License Check” เพื่อค้นหารายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จาก ก.ล.ต.  ถ้าหากไม่พบ บริษัทนั้นอาจอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ควรหลีกเลี่ยงซึ่ง ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียน ในกล่อง  “Investor Alert” ก็เป็นได้ หรือสอบถาม ก.ล.ต. ที่ โทร. 1207 และหากเกี่ยวข้องกับบริการทางการเงินและธนาคาร ติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 ค่ะ

ขอขอบคุณคุณสุรีรัตน์  สุระเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายใบอนุญาต สำนักงาน ก.ล.ต. และคุณจุฬาลักษณ์ พิบูลชล ผู้บริหารทีม ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับข้อมูลการเตือนภัยนี้

“ก.ล.ต. อยากให้คนไทยลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง”