posttoday

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ขึ้นกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

08 เมษายน 2557

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก

โดย สุกิจ อุดมศิริกุล   กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

สวัสดีครับ... จริงๆแล้วสัปดาห์นี้ผมตั้งใจจะนำบทความที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ชื่อดัง Financial Time ชื่อว่า “Star in their eyes” มาแบ่งปันให้กับทุกท่าน ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของผมอยู่พอดี โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของตลาดการเงินโลก ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจมาก และ เป็นสิ่งที่คนในวงการการเงินโลกจะต้องให้ความสำคัญต่อไป ทั้งนี้ อยากแนะนำเป็นพิเศษให้กับผู้จัดการกองทุนได้ไปอ่านกันครับ ส่วนในเรื่อง แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ผมคิดว่าคงจะเข้าสู่ช่วง Holiday mood อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะ เรื่องการประชุม BOJ และ รายงานการประชุม FOMC ซึ่งอาจเข้ามากระทบต่อตลาดฯได้ หากมีประเด็นที่ผิดไปจากตลาดฯคาดการณ์ ส่วน การเมืองไทยคิดว่าสัปดาห์นี้คงไม่มีอะไร เนื่องจากการเคลื่อนไหวสำคัญส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ 

   
สำหรับ เรื่องราวของบทความเรื่อง “Star in their eyes” ที่ทำให้ผมสนใจ คือ การที่ผลงานของผู้จัดการกองทุนชื่อดังระดับโลกไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ในช่วงปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจาก การที่ตลาดการเงินในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Efficient markets) เนื่องจาก ความทันสมัยของเทคโนโลยี และ ข้อมูลที่เพียบพร้อม ในยุคหลังวิกฤติ Lehman Brothers ทำให้นักลงทุนสามารถรับมือกับข่าวบวกและข่าวลบได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้เกิดคำถามต่อมาว่ากองทุนเหล่านั้นคิดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมหรือไม่ ส่วน ประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆในบทความนี้ ได้แก่ วิธีการลงทุน (Investment style) ของผู้จัดการกองทุนแต่ละท่าน รวมถึง การจัดการกับขนาดของเงินลงทุน ซึ่งถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน 

สำหรับ ผู้จัดการกองทุนชื่อดังที่ถูกกล่าวถึงนั้น ผมเชื่อว่าเป็นที่รู้จักของหลายท่าน ได้แก่ Bill Gross ผู้บริหาร Pimco, Warren Buffet ผู้บริหาร Berkshire Hathaway, Richard Buxton ผู้บริหาร Schroder, Hung Yong ผู้บริหาร Aberdeen, Neil Woodford ผู้บริหาร Invesco Perpetual, Anthony Bolton ผู้บริหาร Fidelity

จากบทความระบุว่า หากเปรียบเทียบผลงานในรอบ 10 ปี พบว่า Buffet และ Yong ที่มีผลงานเท่ากับตลาดฯ ส่วนที่เหลือสามารถเอาชนะตลาดฯได้ โดย Mr.Bolton ของ FideIity สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด 

หลังจากอ่านบทความจบแล้ว ผมได้ข้อสรุปว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีความเห็นเหมือนกันว่าการลงทุนในปัจจุบันไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง หรือไม่มี Super star แต่ต้องมีทีมงานที่ดี และ ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจ เนื่องจากสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก เทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เช่นกัน ทำให้ต้องค้นหาความแตกต่าง ผมคิดว่าข้อสรุปเหล่านี้ทำให้ผมมั่นใจขึ้นว่าสิ่งที่ผมกำลังสนใจเกิดขึ้นจริงไม่เฉพาะในตลาดหุ้นไทย 

สำหรับตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าปัจจัยการเมืองคงจะลดน้ำหนักลงในช่วงนี้ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ คาดว่า ตลาดฯจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะ หุ้นประเภท Tech stocks ซึ่งเป็นหุ้นที่ถือว่าปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นมากในช่วงที่ผ่านมา เช่น Facebook, Google เป็นต้น ส่งผลให้ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ลดลงไป 2.3% ดัชนี NASDAQ ลดลง 3.7% การลดลงของหุ้น Tech stocks ในรอบนี้ส่งผลให้เกิดคำถามว่าเกิดขึ้นจากอะไร หรือ อาจเป็นสัญญาณของฟองสบู่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2001 หรือไม่ ทำให้สัปดาห์นี้นักลงทุนต้องติดตามดัชนี NASDAQ อย่างใกล้ชิด นอกจากหุ้น Tech stocks ที่ปรับตัวลดลงแล้ว หุ้นที่เกี่ยวกับพวก Bio tech ก็ถูกขายหนักเช่นกัน ทั้งนี้ หุ้นทั้ง 2 ประเภท มีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสูง (Growth stock) แต่ก็เป็นหุ้นที่ซื้อขายที่ค่า PER สูงมากเช่นกัน ดังนั้น หากจะโยงมาถึงตลาดหุ้นไทยก็คงต้องเตือนหุ้นประเภท Growth stock ที่มีค่า PER สูง ว่าอาจพบกับแรงขายได้เช่นกัน ได้แก่ หุ้นกลุ่มค้าปลีก และ โรงพยาบาล เป็นต้น    

ส่วนปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุม BOJ วันที่ 7-8 เม.ย.ซึ่งถูกคาดหวังมากว่า BOJ อาจจะตัดสินใจเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก รัฐบาลเพิ่งปรับขึ้นภาษีการบริโภคจาก 5% เป็น 8% ในวันที่ 1 เม.ย. เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ให้เสีย Momentum ที่เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2555 อย่างไรก็ตาม Consensus ล่าสุดคาดว่า BOJ จะยังคงไม่มีการประกาศนโยบายเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนผิดหวังเล็กน้อย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในการประชุม ECB ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประการต่อมาในสหรัฐฯ คือ การเปิดเผยผลการประชุม FOMC ครั้งที่ผ่านมาในคืนวันพุธ ซึ่งเป็นครั้งที่ FOMC ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่เคยบอกกับตลาดฯ และ การเริ่มประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/57 ในสหรัฐฯ โดยสัปดาห์นี้ JP Morgan Chase และ Wells Fargo จะประกาศกำไรในคืนวันศุกร์ ทั้งนี้ ตลาดฯคาดว่ากำไรจะออกมาไม่ดี ดังนั้น หากกำไรออกมาดีกว่าคาดก็จะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐฯ

หากจะให้น้ำหนักของปัจจัยต่างๆ ผมเชื่อว่า เรื่องการประชุม BOJ มีโอกาสเป็นกลาง-บวก ส่วน เรื่อง Fed มีโอกาสเป็นไปในด้านลบ เพราะ ผมเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯถือว่าฟื้นตัวเต็มที่แล้ว ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากสิ้นสุดมาตรการ QE 3 เป็นไปได้ ล่าสุด ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 192,000 ตำแหน่ง ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าที่ตลาดฯคาดการณ์ไว้ที่ 200,000 ตำแหน่ง แต่ผมคิดว่าระดับดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ยิ่งเห็นตัวเลขปรับปรุงเดือน ก.พ.ขึ้นเป็น 197,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัจจัยเรื่องอากาศแปรปรวน จะเห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นตัวของแรงงานในภาคการก่อสร้าง

ด้านการเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติ พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเริ่มแผ่ว แต่ยังดีกว่าตลาดหุ้นในแถบเอเชียเหนือที่เงินทุนต่างชาติไหลออก โดยภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก พบว่า เงินทุนต่างชาติไหลกลับไปตลาดหุ้นสหรัฐฯอีกครั้ง หลังจากคุณ Janet Yellen ออกมาพูดว่ายังคงมาตรการกระตุ้นต่อไป เพื่อลดความกังวลของตลาดฯ กรณีนี้ ผมอยากแนะนำให้นักลงทุนสังเกต วิธีการสื่อสารของ คุณ Janet Yellen ว่าจะเหมือนกับคุณ Ben Bernanke หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามีโอกาส ซึ่งหมายถึง การส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯของคุณ Janet Yellen อาจจะยังไม่รุนแรงและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ตลาดฯและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนกว่าการลดวงเงิน QE จะหมดลง ถึงจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯพร้อมที่จะรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือยัง ซึ่งก็คงอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่ควรจะตื่นตระหนกกับเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก   

กลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้ แนะนำ ลดพอร์ต หากดัชนีฯปรับตัวขึ้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงปัจจัยการเมืองในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ สำหรับ มุมมองด้านเทคนิคของ SET Index ในสัปดาห์นี้ ประเมิน กรอบการเคลื่อนไหวด้านบนไว้ที่ 1400 และ 1420 จุด ส่วนกรอบด้านล่าง ได้แก่ 1385 และ 1360 จุด ทั้งนี้ สำหรับ นักลงทุนระยะสั้น แนะนำให้ ขายลดความเสี่ยง หากดัชนีฯลดลงต่ำกว่า 1385 จุด 

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ