posttoday

เริ่มต้นไตรมาส2เดือน เม.ย.การเมืองร้อนรอบใหม่

31 มีนาคม 2557

โดย...สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กิมเอ็ง(ประเทศไทย)

โดย...สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กิมเอ็ง(ประเทศไทย)

ถึงแม้ไตรมาสที่ 1/2557 จะยังคงไม่จบอย่างสมบูรณ์ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่าตลาดหุ้นในไตรมาสที่ 1/2557 มีความผันผวนสูง คือ ดัชนีหุ้นไทย  เคลื่อนไหวระหว่าง 1200-1380 จุด ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่ควรจะเป็น เนื่องจาก เป็นช่วงที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการเข้ามากระทบ ทั้ง การชะลอวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ(คิวอี)  ของสหรัฐ, เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และ ปัจจัยการเมืองไทย ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการปิด กทม.  และที่สำคัญที่สุดเป็นช่วงที่ถือว่านักวิเคราะห์ได้มีการปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) และ ผลการดำเนินงานปี 2557 อย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญมากที่สุดช่วงหนึ่งเท่าที่เคยเห็นมา

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือน มี.ค. ที่ ดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นไปเคลื่อนไหวเหนือระดับ 1350 จุดได้ โดยมีปัจจัยหนุนจาก การประกาศจ่ายเงินปันผลของ บจ.หลังจากเสร็จสิ้นการประกาศงบปี 2556 การยุติการปิด กทม. การยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น และที่สำคัญ คือ เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ซึ่งเท่ากับช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมที่สามเสน

สำหรับภาพของตลาดฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่า ตลาดฯปรับตัวขึ้นสวนกับความรู้สึกของนักลงทุนที่อาจยังคงมีความกังวลกับสถานการณ์การเมือง และ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ เรายังคงเห็นการปรับลดประมาณการณ์ จีดีพี ของนักวิเคราะห์ต่างชาติที่รุนแรงมากขึ้น แต่เรากลับเห็นนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิมีมูลค่ารวมประมาณ 5,000ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะเตือนนักลงทุน คือ พอร์ตของบล.ถือว่าเป็นอีกกลุ่มที่มีมูลค่าการซื้อสุทธิถึง 4,800ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับนักลงทุนต่างชาติ ความหมายที่อยากจะสื่อ คือ การปรับตัวขึ้นของตลาดฯในสัปดาห์ที่แล้วอาจจะดูดีเกินจริงและยังไม่ยั่งยืน   

สัปดาห์นี้ (31 มี.ค. - 4 เม.ย.) เราประเมินว่า ปัจจัยต่างประเทศเป็นบวก ส่วนปัจจัยในประเทศเป็นลบ 

สัปดาห์นี้ถือว่าเป็นอีกสัปดาห์ที่นักลงทุนต้องติดตามตลาดฯอย่างใกล้ชิด เพราะ เราประเมินว่า ดัชนีในช่วงนี้อยู่ใน ระดับที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหากเข้าใกล้ 1380-1400 จุด  ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้ทุกเมื่อ หากมีปัจจัยลบที่รุนแรงเข้ามากระทบ โดยเฉพาะนับตั้งแต่สัปดาห์นี้จนถึงก่อนเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความเป็นไปได้ที่ปัจจัยการเมืองจะมีความร้อนแรงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ เราตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยการเมืองในช่วงเดือน มี.ค.ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อตลาดฯมากนัก ดังที่ได้สรุปสถานการณ์ตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสที่ 1/2557 ไปแล้วข้างต้น แต่หากเปรียบเทียบแล้วเราประเมินว่าความร้อนแรงทางการเมืองในเดือน เม.ย.จะสูงกว่า มี.ค. 

สัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์สำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ คือ

- การเข้าชี้แจงของนายกฯ รักษาการ กรณีโครงการจำนำข้าว ต่อ ปปช. ซึ่งมีนัยทางการเมืองอย่างมาก เนื่องจาก มีผลต่อระยะเวลาในการวินิจฉัยของ ปปช.ต่อคดีดังกล่าว ซึ่งหากยิ่งล่าช้าก็จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไม่ชัดเจนต่อไป

- การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.พ.ของ ธปท. คาดว่าจะยังคงออกมาแย่ แต่เชื่อว่านักลงทุนเข้าใจและกำลังรอดูตัวเลขเดือน มี.ค.ซึ่งมีลุ้นว่าจะเห็นการฟื้นตัวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออก เดือน ก.พ.รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2% ถือว่าเป็นตัวสร้างความหวังว่าจะเข้ามาช่วยสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ซึ่งเราเองก็หวังประเด็นนี้เช่นกัน โดยเราไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวต่ำกว่า 3% มากนัก

- การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มี.ค. เราคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือน ก.พ. ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวขึ้นแล้ว อันเนื่องจากต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ตาม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงกดดันของเงินเฟ้อยังคงไม่มากพอที่จะกดดันอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มขึ้น

- การนัดชุมนุมใหญ่ของ กลุ่ม นปช.วันที่ 5 เม.ย. ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองเช่นกัน ในแง่ของการชุมนุมซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์หน้าก่อนช่วงสงกรานต์ โดยต้องติดตามจำนวนผู้ชุมนุมว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหน

- ความเคลื่อนไหวต่อเนื่องของกลุ่ม กปปส. หลังจากการชุมนุมวันที่ 29 มี.ค.มีผู้มาร่วมชุมนุมค่อนข้างมาก

- ด้านต่างประเทศเราคิดว่าส่วนใหญ่เป็นปัจจัยบวก ได้แก่ ความหวังที่รัฐบาลจีนจะเริ่มกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ และ ความหวังที่ธนาคารกลางยุโปร(อีซีบี) จะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด (คล้ายกับที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดออกมาตรการ คิวอีแต่อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันบ้าง)

สำหรับ การเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาตินั้น เราประเมินว่าไม่ได้เข้ามาซื้อเฉพาะตลาดหุ้นไทย แต่เป็นเม็ดเงินที่เข้ามาพร้อมกันในตลาดหุ้นเอเชีย โดยจากข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทอีพีเอฟอาร์ โกลบอล( EPFR  )ตั้งแต่วันที่ 19-26  มี.ค.พบว่า เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐแต่ไหลเข้ามาในเอเชียเป็นสัปดาห์แรกในรอบ 7 สัปดาห์ โดยสังเกตเห็นว่าเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นจีนลดลง ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่มีเงินทุนไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่วนตลาดหุ้นไทยถือว่ามีเงินทุนไหลเข้าค่อนข้างเด่น โดยกลุ่มที่เป็นเป็นหมายของเงินทุนต่างชาติ ได้แก่ การแพทย์ สื่อสาร และ สาธารณูปโภค เป็นต้น  ดังนั้น  นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับภาพรวมของเงินทุนต่างชาติในเอเชียมากกว่าเฉพาะตลาดหุ้นไทยเท่านั้น  

โดยสรุป เราประเมินว่า ตลาดฯในสัปดาห์นี้มีโอกาสที่จะเริ่มกลับมาผันผวนอีกครั้ง จากปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโอกาสอ่อนตัวในช่วงปลายสัปดาห์  ส่วนในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดฯอาจมีแรงหนุนจาก Momentum เชิงบวกจากสัปดาห์ที่แล้ว คาดว่าดัชนี จะเพิ่มขึ้นไปได้ไม่เกิน 1385-1390 จุด และก็จะอ่อนตัวลง ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนบริเวณ 1380จุด จุดขึ้นไป กลุ่มอุตสาหกรรมที่เราประเมินว่าจะเด่นในช่วงนี้ ได้แก่  ปิโตรเคมี อาหาร และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  เนื่องจาก คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ หลังจาก จีน และ ยุโรป อาจกลับมาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

สวัสดีครับ