posttoday

แก้ทุจริตให้เป็นรูปธรรม ทำไง?

24 กุมภาพันธ์ 2557

ถึงเวลาที่จะรื้อแนวทางผิดๆ ในการต่อต้านการทุจริตในประเทศไทย

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ไม่มีใครโต้แย้งว่าการทุจริตเป็นบาปถึงแม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตอาจที่จะวัดได้ยากแต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถสรุปได้ว่า การทุจริตมีมูลค่าที่ค่อนข้างสูง World Economic Forum ได้ประมาณการไว้ว่า การทุจริตมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 5 ของ GDP โลก และการจ่ายเงินสินบนมีมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากประมาณการของธนาคารโลก ซึ่งไม่น่าแปลกใจมากนักที่มีการรนณรงค์ต่อต้านการทุจริตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ มีรัฐบาลของหลายประเทศ และองค์กรพัฒนาหลายแห่ง ที่ได้อุทิศทรัพยากรจำนวนมากในการต่อต้านการทุจริตในช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าเศร้าว่า ในประเทศที่มีการฉ้อโกงสูงมาก มาตรการต่อต้านการทุจริตมักจะไม่ได้ผลมากนัก

ประเทศไทยมีหน่วยงานและเครื่องมือต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซี่งรวมถึง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ  คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น หน่วยงานชื่อเสียงเรียงนามเก๋เก๋ ประเทศไทยมีหมด ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่นำเรื่องมาเปิดเผยหรือร้องเรียน (whistleblower) แต่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ที่สามารถนำมาใช้เพื่อคุ้มครองบุคคลที่เปิดโปงการทุจริตได้ การจัดตั้งและการดำเนินการของหน่วยงานเหล่านี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งยังไม่รวมถึงงบประมาณจำนวนหลายล้านบาทที่ถูกนำไปใช้ละลายน้ำในการประชาสัมพันธ์ที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองซึ่งรวม ถึงการจัดสัมมนาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับการทุจริตในประเทศไทย ตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปล่งใส (Transparency International) ประเทศไทยได้เลื่อนจากลำดับที่ 60 ในดัชนีความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) ในปี พ.ศ. 2543 ลงไปอยู่ลำดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ในปี 2556 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

ถึงแม้ว่า การทุจริตในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน การทุจริตจะมักจะเกิดขึ้นสองรูปแบบ รูปแบบที่ 1 คือการทุจริตในภาครัฐ ในรูปแบบของนโยบายกล่าวคือ มีการขโมยทรัพยากรหรือการใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างผิดวิธีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมือง หรือรูปแบบที่ 2 คือ การทุจริตโดยระบบ กล่าวคือ การจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทุจริตเล็กน้อย แต่ในภาพรวม อาจครอบคลุมทรัพยากรของรัฐเป็นจำนวนมาก

ส่วนมาก การทุจริตในภาครัฐเป็นเหตุมาจากการล้มเหลวของระบบธรรมาภิบาลในระดับสูงสุด การทุจริตมีมากในกรณีที่กฎหมายบังคับใช้กับคนกลุ่มหนึ่งแต่ไม่รวมถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง(สองมาตรฐาน) ประเทศไทยเป็นตัวอย่างคลาสสิกของการกำกับดูแลที่เสาหลักของการปกครอง (ตุลาการ) ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของพลเมืองซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อประเทศในระยะยาว เป็นที่น่าเสียดายที่ระบบยุติธรรมของประเทศไทยเปิดช่องให้มีการทุจริตนอกจากนี้การกระทำที่มีมานานแล้ว(นิสัย)มักจะแก้ไขได้ยาก  

อันที่จริงเสาหลักของการปกครองในประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาซึ่งเป็นสมัยที่ระบบขุนนางและสังคมลัทธิเกื้อหนุนญาติมิตรเป็นเรื่องปกติ ผลที่ตามมาคือเวลาเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็น "ส่วนรวม" และสิ่งที่เป็น "ส่วนตัว" บางและจางมากการละเมิดสิทธิของสำนักงานสาธารณะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวจะเกิดขึ้นเป็นประจำ

ปัจจุบันไม่มีใครโต้แย้งว่าเรากำลังอยู่ในระบบการปกครองที่ไม่สมประกอบและมีความแตกแยกในสังคมสูง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการคิดนอกกรอบหรือลองอะไรที่ไม่คาดถึง แทนที่จะเสียเงินกับโครงการประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลสะท้อนกลับไม่ดีนัก อาจจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการเสริมสร้างระบบกฎหมายที่มอบอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น ซึ่งอาจทำได้จากการปฏิรูปจากด้านรากหญ้าขึ้นไป อาทิ การพิพากษาโดยคณะลูกขุน กฎหมายรับรองเสรีภาพของข้อมูลต่างๆ การเริ่มใช้ระบบรัฐบาลอิเล็กโทรนิคส์ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้ระบบอินเตอร์เน็ทในการจ่ายภาษี จัดซื้อจัดจ้าง ติดตามคดีในศาล และศุลกากร เป็นต้น

อีกทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาการทุจริต คือการทำให้การทุจริตเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ในหลายประเทศ ยาเสพติด การพนันและการค้าประเวณี ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ในหลายประเทศ กิจกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย ประเทศไทยควรจะเลิกปฏิเสธความเป็นจริง บ่อนการพนัน ซ่อง หรือหวยใต้ดิน มักจะเป็นธุรกิจของบุคคลที่มีอำนาจ (ผมมั่นใจว่า อดีตเจ้าพ่ออ่าง สามารถที่จะยืนยันประเด็นนี้ได้) เพราะฉนั้น แทนที่จะทำเหมือนกับไม่มีสิ่งเหล่านี้ในสังคม เราอาจหันไปแก้ปัญหาโดยทำให้มีความโปร่งใสและถูกกฎหมายมากขึ้น  และยังอาจสามารถเก็บภาษีจากกิจกรรมดังกล่าวได้อีก

การที่มีรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เล็กและกระชับมากขึ้นจะช่วยได้มาก การกระชับดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสทุจริตน้อยลง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นอีกวิธีที่จะนำไปสู่ความโปร่งใส และการจำกัดอำนาจผูกขาดของภาครัฐ การที่ภาครัฐมีขนาดเล็กลง จะสามารถทำให้จ่ายเงินเดือนได้สูงขึ้น การเดินตามสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะได้รับเงินเดือนในอัตราเทียบเท่ากับบริษัทเอกชน การทุจริตในภาครัฐน่าจะลดลง เมื่อพวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายและถูกต้องโดยไม่ต้องรับสินบน

ผู้อ่านสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลให้ผมได้ที่ [email protected]