posttoday

ส่งลูกไปเรียนนอกต้องวางแผนอย่างไรดี

17 กุมภาพันธ์ 2557

โดย...ธีระ ภู่ตระกูลนายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดย...ธีระ ภู่ตระกูลนายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ในอดีตและปัจจุบัน การศึกษาในต่างประเทศจะเป็นสัญญลักษณ์ทางสังคมของครอบครัว ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษจะเป็นกุญแจสำคัญในการได้รับการสัมภาษณ์เข้างาน เนื่องจากจะถือว่าคนที่ได้รับปริญญาดังกล่าวเป็นบุคคลที่เก่งและมีระดับ อย่างไรก็ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชื่อดัง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการแข่งขันมากขึ้น สัญญลักษณ์ทางสังคมล่าสุดของครอบครัวที่มีฐานะในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่มีบ้านใหญ่และหรูแค่ไหน หรือมีเรือยอชท์หรือไม่ แต่กลายเป็นส่งลูกเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย IVY LEAGUE อันไหน และในอีกด้านของโลก นโยบายของรัฐบาลจีนที่ให้มีลูกหนึ่งคนต่อครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาใหม่ เพราะบางครอบครัวก็ยอมลูกทุกอย่าง การที่เป็นลูกคนเดียวในครอบครัวจะได้รับการเลี้ยงดูและการดูแลเป็นอย่างดีจากพ่อแม่ และปู่ย่าตายาย และสิ่งที่วัฒนธรรมจีนให้ความสำคัญมากคือการศึกษาที่ดี และเมื่อจีนเริ่มร่ำรวยมากขึ้น เห็นได้จากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่อลังการณ์ ครอบครัวที่มีฐานะเลือกที่จะไม่ส่งลูกไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปักกิ่งหรือนครเซี่ยงไฮ้ แต่เลือกที่จะส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

การศึกษามีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเพื่อรองรับความโอ้อวดและเป็นสถานะทางสังคมของพ่อแม่ หรือเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเริ่มชีวิตในทางที่ดี ไม่ว่าคุณประสงค์จะให้ลูกเข้าโรงเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัย คำถามที่ทุกคนต้องตอบคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษกำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างมาก บางครั้งต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งทำให้จำนวนทุนการศึกษา หรือเงินช่วยเหลือต่างๆ ลดน้อยลง และสถานศึกษาบางแห่งมีความจำเป็นต้องขึ้นค่าเล่าเรียน ซึ่งทำให้พ่อแม่ต้องแบกรับภาระด้านการเงินมากยิ่งขึ้น

ค่าเล่าเรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย จะอยู่ที่ประมาณ 500,000 – 700,000 บาทต่อปี โรงเรียนประจำในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี และสำหรับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ในมหาวิทยาลัยของรัฐในสหรัฐอเมริกา จะมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 3.5 ล้านบาท หรือสำหรับมหาวิทยาลัยในกลุ่ม IVY LEAGUE หรือมหาวิทยาลัยเอกชน จะมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 5.6 ล้านบาท ไม่ว่าคุณคิดว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนในการจ่ายค่าเล่าเรียนดังกล่าว แต่ผมขอบอกว่า หากคุณมีความต้องการและความตั้งใจ ยังมีทางที่จะชำระค่าเล่าเรียนดังกล่าวได้ ก่อนอื่นคุณต้องกำหนดกฎเกณฑ์ว่าช่วงเวลาการเก็บเงินของคุณยาวนานเพียงใด

สมมติว่าคุณเพิ่งได้ลูกเกิดใหม่ ช่วงเวลาเป้าหมายที่คุณต้องเก็บเงิน ส่งลูกเรียนก็น่าจะนานสัก 18 ปี ผมแนะนำว่าคุณควรแยกเงินเก็บเพื่อการ ศึกษาของลูกคุณออกจากเงินลงทุนอื่นๆของคุณ หากคุณมีเวลาสัก 10 ปีหรือมากกว่านั้น ผมคิดว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ (หุ้น) เป็นสิ่งสำคัญในพอร์ตการลงทุนของคุณ เพราะหากไม่คิดเรื่องการแกว่งตัวไปมาของราคาหุ้นแล้ว ผมมองว่าหลักทรัพย์เป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว ที่พอจะมีมูลค่าสูงมากกว่าอัตราการเฟ้อของค่าใช้จ่ายในการศึกษาได้

พวกคุณอาจจะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในการลงทุนในตลาดหุ้น เรื่องนี้ผมเข้าใจดีแต่มันมีวิธี หรือเครื่องมือที่จะจัดการลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่พอจะยอมรับได้ เช่น หากจะให้มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง โดยมีเวลาเก็บเงินให้ลูกเรียนนาน 10 ปี คุณควรจะลงทุนในหุ้นประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตการลงทุนและส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในพันธบัตร และถ้ามีเวลาเก็บเงินแค่ 5 ปี ก็ควรจะลดการลงทุนในหุ้นลง เหลือ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ครั้นพอใกล้ถึงเวลาที่กำหนดไว้ คุณก็ควรจะเปลี่ยนการลงทุนส่วนข้างมากมาเป็นกองทุนตราสาร หนี้ระยะสั้น เพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้

คำแนะนำอีกประการหนึ่งที่ผมมักจะพูดเตือนอยู่เสมอๆ ก็คือให้ลงทุนแบบระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์หรือหุ้น แม้จะมีการแกว่งตัวอยู่บ้างในช่วง2-3 ปีหลังนี้ แต่ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับกองทุนตราสารทุนหรือหุ้น อย่าสนใจการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในช่วงสั้นๆ แต่เน้นไปดูที่เป้าหมายระยะยาวและผลตอบแทนที่ดีในบั้นปลาย

ผู้อ่านสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลให้ผมได้ที่ [email protected]